ปลัดกลาโหม ยัน งบกองทัพไม่สูงเมื่อเทียบกับภารกิจ ด้าน ผบ.ทสส. แจงนโยบายซื้ออาวุธเน้นซ่อมบำรุง ย้ำ ใช้งบประหยัด คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อพิจารณางบของกระทรวงกลาโหม พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวรายงานว่า กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณมีสัดส่วนลดลงทุกปี นับตั้งแต่ปี 2564 จำนวน 6.55% ปี 2565 6.51% ปี 2566 6.19% หากเทียบกับสัดส่วนจีดีพีของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563-2565 เฉลี่ย 1.22% และปี 2566 1.10%
จากสถานการณ์โลก ปัจจุบันมีความผันผวน และเสี่ยงนำไปสู่ความขัดแย้งโดยการใช้กำลังทหาร การใช้อาวุธที่เกิดจากนโยบายด้านยุทธศาสตร์ การแข่งขันขยายอำนาจของจีน สหรัฐฯ รัสเซียและประเทศพันธมิตร ที่นำไปสู่การขยายพื้นที่การสะสมอาวุธ นโยบายต่างประเทศแบบเลือกข้างและใช้นโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งจากการสำรวจพบว่างบประมาณด้านกำลังทหารโลกเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“กระทรวงกลาโหมตระหนักข้อจำกัดงบประมาณของประเทศ จัดลำดับความสำคัญ อาวุธยุทโธปกรณ์ ควบคู่พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กำลังพลสำรองและนโยบายมิตรประเทศ เสริมสร้างอำนาจทางทหาร จะเห็นว่างบประมาณกระทรวงกลาโหมปี 2566 ไม่สูงเมื่อเทียบภารกิจ แม้ไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่สร้างความมั่นคงด้านการลงทุน กองทัพมีแสนยานุภาพ มีความเข้มแข็ง เพื่อใช้ต่อรองนโยบายการเมืองได้เช่นเดียวกัน” พล.อ.วรเกียรติ กล่าว
ด้าน พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวว่า ข้อมูลความมั่นคงมีชั้นความลับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงขอให้ระมัดระวังในการนำไปเผยแพร่ภายนอกกับบุคลคลอื่น ทั้งนี้ ทุกประเทศต้องจัดกำลังทหารป้องกันประเทศ ปกป้องอธิปไตย รับมือภัยคุกคาม
แม้ความมั่นคงที่ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ก็คือความอยู่รอดของประเทศ ส่งผลถึงเศรษฐกิจความเป็นอยู่ประชาชน การเสริมสร้างกำลังทหารเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 52 และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 กองทัพไทยประกอบไปด้วยเหล่าทัพ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน
พล.อ.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์นั้น เน้นการปรับปรุงยืดอายุการใช้งานการซ่อมบำรุง และยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมใช้งบประมาณประหยัด คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งการจัดหาเป็นไปตามขั้นตอน มีการจัดตั้งคณะกรรมการก่อนเสนอกระทรวงกลาโหมทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และกระบวนการพิจารณากลั่นกรองเป็นไปอย่างรอบคอบเหมาะสม
“ปัจจุบันกองทัพไทยมียุทโธปกรณ์คิดเป็นเงินรวมทั้งหมดประมาณ 5 แสนล้านบาท การจัดหาทดแทนในส่วนที่จำเป็น และซ่อมบำรุงคิดเป็น 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 2% เพื่อดูแลรักษาให้คงสภาพ รวมถึงงบประมาณด้านการฝึกกำลังพล การสับเปลี่ยนกำลังทดแทน เมื่อมีการปรับย้ายการฝึกร่วมกับมิตรประเทศ
ทั้งนี้ หากกองทัพไทยเข้มแข็ง ก็สามารถรองรับภารกิจต่างๆ เช่น โควิด สถานการณ์วิกฤต ภัยพิบัติต่างๆ กองทัพมีความสมบูรณ์ในการแก้ปัญหาเบื้องต้น เพราะมีหน่วยทหารอยู่ทั่วประเทศเข้าถึงพื้นที่รวดเร็ว” พล.อ.เฉลิมพล กล่าว