“ช่วงแรกที่ผมเล่นเป็นสตันท์ มีครั้งหนึ่งผมเผลอออกอาวุธแรง พี่เขาก็บอกว่า ‘เฮ้ย สตันท์มันไม่ได้เล่นแบบนี้นะ ถ้าเล่นแล้วเจ็บตัว สำหรับสตันท์ถือว่าขาดทุน’ เพราะสตันท์ไม่ใช่นักมวย นักมวยไม่ต้องต่อยบนเวทีทุกวัน แต่สตันท์ต้องรับงานทุกวัน จะมาต่อยจริงเจ็บจริงไม่ได้”
“สตันท์แมน” คือ อาชีพที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬา แต่คลุกคลีกับการต่อสู้มากที่สุด หน้าที่ของพวกเขา เป็นการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เพื่อฉากแอ็คชั่น แทนนักแสดงจริง ในละคร-ภาพยนตร์
หลายคนอาจสงสัยว่า สตันท์แมน ที่เตะต่อยบนหน้าจอทีวีให้เห็นแทบทุกวันนั้น จำเป็นต้องเก่งศิลปะการต่อสู้หรือไม่ ? แล้วถ้านักสู้ที่เชี่ยวชาญศิลปะป้องกันตัวหลายแขนง เลือกเบนสายสู่อาชีพสตันท์แมน เขาจะเป็นสตันท์แมนที่เก่งกว่าคนอื่นหรือเปล่า ?
ปราชญ์ บัวภา คือหนึ่งในคนที่ทำอาชีพสตันท์ แต่อาจเป็นคนเดียวที่ทำงาน “สตันท์แมน” ควบคู่กับ “นักสู้ MMA” ซึ่งถือเป็นสองบทบาทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
เมื่อสตันท์แมน “ห้าม” ต่อยจริง เจ็บจริง แต่บทบาทนักสู้บนสังเวียนต้องฟาดฟันด้วย เลือด, เหงื่อ และน้ำตา ชายผู้นี้บาลานซ์ศาสตร์การต่อสู้ที่ร่ำเรียนมา ให้เข้ากับชีวิตทั้งสองด้านของเขาได้อย่างไร ?
ความฝันจากโอลิมปิก
“ผมชอบดูมวยสากลมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกีฬาโอลิมปิก ตอนนั้นเป็นช่วงที่ สมรักษ์ คำสิงห์ ได้เหรียญทอง ผมดูแล้วรู้สึกว่ามันสนุกดี อีกอย่างยุคนั้น คนรอบตัวทุกคนเขาก็ดูมวยสากลกันหมด”
ย้อนกลับไปในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 1996 ชาวไทยทั่วประเทศได้สัมผัสบรรยากาศแห่งความสุข แบบที่ไม่เคยรู้สึกจากประสบการณ์ไหน เมื่อ สมรักษ์ คำสิงห์ นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย สามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นฮีโร่เหรียญทองคนแรกของประเทศ
ธงชาติไทยที่โดดเด่นเป็นสง่า พร้อมกับเสียงเพลงชาติที่ดังกระหึ่มเวทีการแข่งขัน ภาพความประทับใจเหล่านี้ถูกถ่ายทอดสู่สายตาชาวไทยผ่านหน้าจอโทรทัศน์ คนทุกเพศวัย ไม่ว่าจะเป็น เด็กชาย, เด็กหญิง หรือ ผู้ใหญ่ ต่างเป็นพยานสำคัญ และร่วมประจักษ์วินาทีประวัติศาสตร์พร้อมกันทั่วทั้งชาติ
ปราชญ์ บัวภา เด็กชายจากจังหวัดร้อยเอ็ด หลงรักกีฬามวยสากลนับตั้งแต่นั้น เขานับวันเวลาให้บรรจบครบ 4 ปี เพื่อจะกลับมานั่งหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อส่งเสียงเชียร์นักชกทีมชาติไทยให้ประสบความสำเร็จ ในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
วีรบุรุษนักชกเหรียญทองโอลิมปิก ทั้ง สมรักษ์ คำสิงห์, วิจารณ์ พลฤทธิ์, มนัส บุญจำนงค์ และ สมจิตร จงจอหอ ต่างเป็นไอดอลในวัยเด็กของปราชญ์ ในที่สุด เด็กชายที่เคยให้กำลังใจนักมวยหน้าจอโทรทัศน์ จึงเริ่มคิดว่า ทำไมเขาไม่ลองฝึกชกมวย และเดินบนเส้นทางความฝันเดียวกันกับไอดอลของตัวเองดูบ้าง ?
“ผมเริ่มฝึกชกมวยหลังจากพี่สมจิตรได้เหรียญทอง ตอนนั้นผมอายุประมาณ 15-16 ปี” ปราชญ์ย้อนเล่าถึงก้าวแรกบนเส้นทางสายต่อสู้
“ผมมีความฝันว่าอยากติดทีมชาติไทย อยากลองไปแข่งกีฬาโอลิมปิกบ้างสักครั้ง เมื่อบวกกับที่ตัวผมเองชอบกีฬาต่อสู้ ก็เลยคิดจะอยากลองต่อยมวย”
“มวยมันเป็นกีฬาที่เจ็บตัว และต้องใช้ความอดทน ตอนแรกผมคิดว่า คงมีคนต่อยมวยไม่เยอะหรอก แต่พอมาเจอความจริงกลายเป็นว่า นักมวยเต็มไปหมดเลย (หัวเราะ)”
ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ ปราชญ์จึงใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอม เดินทางมาอาศัยกับญาติที่ย่านปทุมวัน โดยอ้างว่าจะมาช่วยคุณป้าขายข้าวแกง แต่ความจริงแล้ว ปราชญ์ตั้งใจจะมาฝึกต่อยมวยที่สนามศุภชลาศัย ซึ่งมีโครงการ “ร้อนนี้มีกีฬาเพื่อลูกรัก” ของกรมพละศึกษา กำลังเปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมอยู่พอดี
“ช่วงปิดเทอมผมไม่รู้จะทำอะไร ผมเลยตัดสินใจขึ้นมาช่วยป้าขายของที่กรุงเทพฯ เพราะป้าผมขายข้าวแกงรถเข็นอยู่แถวสยามตอนช่วงเช้า หลังจากขายของเสร็จ ผมก็จะมีเวลาว่างทั้งวันที่จะไปเรียนกีฬา”
“ผมลงสมัครไป 2 กีฬา คือ มวยไทย กับ มวยสากล ซึ่งมวยสากลมีคนสมัครอยู่แค่ไม่กี่คน แล้วพอถึงวันจริงก็ไม่มีใครมากัน สรุปเหลือแค่ผมกับอาจารย์กันสองคน อาจารย์เขาก็สอนผมได้อย่างเต็มที่ ผมก็เลยเน้นไปทางมวยสากลมากกว่า”
ปราชญ์นำทักษะมวยสากลที่เรียนรู้มาในช่วงมัธยมปลาย ใช้เป็นใบเบิกทางเพื่อศึกษาต่อที่คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในรั้วมหาลัยแห่งนี้
ปราชญ์ ได้โอกาสในการศึกษาและเรียนรู้ศาสตร์การต่อสู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น ยูโด, เทควันโด, คาราเต้, ยิวยิตสู และ ปัญจักสีลัต ซึ่งถือเป็นศิลปะป้องกันตัวที่แตกต่างจากกีฬามวยสากลโดยสิ้นเชิง
เรียนรู้หลายศาสตร์การต่อสู้
“กีฬาต่อสู้มันไม่ใช่แค่มวยสากลอย่างเดียว ผมอาจจะรุ่งกับกีฬาชนิดอื่นก็ได้” ปราชญ์กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจลองเล่นกีฬาต่อสู้ชนิดใหม่
“ช่วงนั้นผมลองแข่งกีฬาต่อสู้ทุกกีฬา ก็แข่งหมดเลยครับ เทควันโด, ยูโด, ยิวยิตสู, คาราเต้ เพื่อจะได้รู้ว่าผมถนัดอะไร จนผมก็ได้คำตอบว่า ผมถนัดมวยสากลที่สุด เพราะเราต่อยมวยมาก่อน”
“แต่การลองไปเล่นกีฬาอื่น มันทำให้ผมเข้าใจวิธีการต่อสู้ที่แตกต่างของแต่ละกีฬา เพราะบางกีฬาผมจะยังไม่ทันกติกา สู้ไปยังไงก็แพ้”
“เช่น คาราเต้ ที่ต้องต่อยให้เซฟคู่ต่อสู้ ผมก็เซฟไม่ได้ เพราะว่าผมถูกฝึกมาให้ทิ้งหัวไหล่ หรือ เทควันโด ผมก็เตะแบบมวยไทยไป แต้มมันก็ไม่ขึ้น แต่ผมไม่ได้ซีเรียสเรื่องนั้น เพราะผมมองมันเป็นความสนุก ที่ได้ลองฝึกซ้อมวิธีการการออกอาวุธที่แตกต่างกันไป”
ความสนุกและความท้าทายที่ได้ลองฝึกฝนกีฬาต่อสู้รูปแบบใหม่ ช่วยเปิดโลกทัศน์ของปราชญ์ และทำให้เขาพร้อมจะเปิดรับโอกาสใหม่ที่จะเข้ามาในชีวิต
ปราชญ์จึงตัดสินใจเดินทางไปออดิชั่น เพื่อจะเข้าเป็นหนึ่งในทีมนักแสดงของโชว์ “Muay Thai Live: The Legend Lives” การแสดงมวยไทยโบราณในรูปแบบละครเวที
“ผมเคยเรียนมวยโบราณจากโครงการของกรมพละ ส่วนยิมนาสติกผมก็มีทักษะติดตัวจากสมัยเรียน ผมมองว่าผมน่าจะเล่นได้ ก็เลยลองไปรับงานสตันท์แมน”
“คราวนี้ เงินที่ได้มามันค่อนข้างดี การที่เด็กปี 2 อย่างผมในตอนนั้น ได้จับเงินหลักหมื่นก็ถือว่าเยอะ ผมก็เลยรับงานสตันท์ไปด้วย เรียนไปด้วย และแข่งกีฬาไปด้วย”
จากเด็กชายที่มีความฝันเป็นนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นทีมชาติ ปราชญ์ บัวภา พบเจอจุดเปลี่ยนในชีวิต เขาหันมาทุ่มเทเวลาให้กับสายงานใหม่ ที่มอบหน้าที่การงาน และช่วยให้เขายังคลุกคลีกับหมัดมวย ในบทบาทที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อเอาชนะ แต่ต่อสู้เพื่อแสดงภาพที่สวยงามออกมาบนหน้ากล้อง
บทบาทที่เรียกว่า … สตันท์แมน
ศาสตร์ของสตันท์แมน
“มวยเวลาโดนมันต้องเก็บอาการ แต่สตันท์พอโดนต่อย เราต้องออกอาการให้มากกว่าเดิมเป็น 100 เท่า มันต่างกันนะ เรียกได้ว่า ตรงข้ามกันเลย”
“งานสตันท์จะเน้นท่าทางที่ดูรุนแรง วาดหมัดกว้าง ๆ แต่ต้องปลอดภัย พอหมัดจะถึงเป้าหมาย ปัง คุณต้องหยุดให้ได้แล้วดึงหมัดกลับมา เพื่อให้เห็นภาพของการต่อสู้ แต่ถ้าเราเตะอัดเข้าไปเต็มแรง คนเล่นด้วยกันก็จะเจ็บ เราต้องเซฟตัวเองให้เป็น”
“ช่วงแรกที่ผมเล่นเป็นสตันท์ มีครั้งหนึ่งผมเผลอออกอาวุธแรง พี่เขาก็บอกว่า ‘เฮ้ย สตันท์มันไม่ได้เล่นแบบนี้นะ ถ้าเล่นแล้วเจ็บตัว สำหรับสตันท์ถือว่าขาดทุน’ เพราะสตันท์ไม่ใช่นักมวย นักมวยไม่ต้องต่อยบนเวทีทุกวัน แต่สตันท์ต้องรับงานทุกวัน จะมาต่อยจริงเจ็บจริงไม่ได้”
ความสำเร็จของนักแสดงชื่อดังที่มีทักษะการต่อสู้ เช่น จา พนม (ทัชชกร ยีรัมย์) อาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า หากดาราหรือสตันท์แมนที่ปรากฎตัวอยู่ในหนัง มีวิชาการต่อสู้ติดตัว ย่อมหมายความว่าเขาคนนั้นคือสตันท์แมนที่ “เก่ง” กว่าคนอื่น
ความเป็นจริงตรงกันข้ามจากที่หลายคนเข้าใจ ปราชญ์ ที่มีความสามารถด้านกีฬาต่อสู้หลายชนิด ตั้งแต่ มวยสากล จนถึง ยิวยิตสู กลับต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่เมื่อเข้าสู่งวงการสตันท์แมน เพราะทุกสิ่งที่เคยเรียนรู้มาตลอดชีวิตกลับตารปัตร
จากที่เคยออกหมัดเพื่อน็อคคู่ต่อสู้ ปราชญ์ต้องเรียนรู้การควบคุมอาวุธ เพื่อออกหมัดอย่างเต็มแรง แต่ต้อง “ไม่โดนคู่ต่อสู้” รวมถึงทักษะอื่นที่จำเป็นของสตันท์แมน ซึ่งเขาไม่เคยเรียนรู้มาก่อน
เช่น การตั้งการ์ดแบบเปิดหน้า เพื่อให้กล้องจับภาพอย่างชัดเจน หรือ จังหวะการเคลื่อนไหวที่เหมือนเข้ารับการปะทะ แต่ความจริงแล้ว เป็นเพียงการขยับร่างกาย (เช่น การสบัดหน้าเมื่อโดนต่อย) ไปตามท่าทางที่เข้ามา ทั้งที่ไม่ได้ถูกสัมผัสจากฝ่ายตรงข้าม
“ผมทำงานเป็นสตันท์แมน มันก็เหมือนกับเป็นดารา ผมต้องทำให้คนดูเชื่อว่าผมเป็นสิ่งนั้น เช่น ผมแสดงเป็นตำรวจ ผมก็ต้องมีทักษะของการเป็นตำรวจ เมื่อผมต้องเข้าฉากแอคชั่น ผมต้องต่อสู้ให้เหมือนตำรวจ”
“การแสดงของสตันท์แมน มันไม่ใช่แค่ การเตะต่อย เพราะมันคือการแสดงให้เหมือนจริงมากที่สุด แต่เซฟมากที่สุด และออกมาสวย ดูมุมภาพออกมาแล้วคนเข้าใจ มันยากตรงนี้แหละ ยากที่จะทำให้คนเข้าใจว่า สิ่งที่เรากำลังแสดงอยู่ คืออะไร”
ศาสตร์ของสตันท์แมน จึงกลายเป็นความท้าทายสูงสุดในชีวิตเขา ยิ่งกว่าศาสตร์การต่อสู้ไหน แต่ใช่ว่าศาสตร์ทั้งสองด้านจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน
ปราชญ์กล่าวว่า ประสบการณ์ในบทบาทสตันท์แมน ถือเป็นบทเรียนอันล้ำค่า เพราะมันช่วยให้เขาเข้าใจการเคลื่อนไหว และร่างกายของตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามก้าวขึ้นบนสังเวียนการต่อสู้
“ผมต่อยมวยแล้วเซฟตัวเองเป็น เพราะเริ่มเรียนสตันท์แมนนะ เพราะก่อนหน้านั้น ผมเดินใส่ตลอด ต่อยจบทุกไฟต์ร่างกายจะเจ็บหนักมาก แต่หลังจากเรียนสตันท์ หรือรับงานเป็นสตันท์ ผมถึงเริ่มคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องเจ็บตัวขนาดนั้น”
“เมื่อผมเรียนการเคลื่อนไหวแบบสตันท์มา ผมเข้าใจแล้วว่า เวลาเขาเตะมา เรามีวิธีก้าวหลบเพื่อลดแรงปะทะที่จะเข้ามา หรือโดนต่อยหน้า ผมแค่สบัดหน้าตาม มันลดอาการบาดเจ็บได้มาก แทนที่จะปะทะตรง ๆ”
“ดังนั้น ศาสตร์สตันท์แมน กับ ศาสตร์มวย ผมคิดว่ามันช่วยเสริมกันได้” ปราชญ์ กล่าว
แพสชั่นในชีวิตของผม
ทุกวันนี้ ปราชญ์ ถือเป็นผู้กำกับคิวบู๊ฝีมือดีของวงการบันเทิง เขาผ่านการทำงานเบื้องหลังกับละครชื่อดังทางช่อง 3 หลายเรื่อง เช่น รักจังเอย และเคยประกบดาราชื่อดัง อย่าง หมาก ปริญ, แต้ว ณฐพร และ เต๋อ ฉันทวิชช์ เพื่อสอนคิวบู๊แบบตัวต่อตัว
การทำงานในส่วนนี้ช่วยให้ปราชญ์ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวราวเดือนละ 1 แสนบาท หากเทียบกับค่าแรงของคนทั่วไปในสังคมไทยยุคปัจจุบัน อาชีพของปราชญ์ ก็ดูจะได้ค่าตอบแทนที่สูงมาก
แต่บางครั้ง ชีวิตคนเราไม่ได้หล่อเลี้ยงด้วยเงินตราเพียงอย่างเดียว สำหรับ ปราชญ์ ไม่มีสิ่งใดที่จะเข้ามาทดแทนความรักในกีฬาต่อสู้ได้ ตลอด 5 ปีที่เขารับงานสายสตันท์แมน ปราชญ์จึงเดินหน้าขึ้นสังเวียนต่อสู้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น มวยสากล, ยิวยิตสู หรือ MMA เพื่อเติมไฟให้กับชีวิตของเขา
“ถ้ามองเป็นเรื่องของเงิน ผมก็จะบอกว่า งานสตันท์แมน ประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะว่ามันเป็นงานที่มีตลอด ส่วนงานต่อย นานทีจะมี ซึ่งถามว่ามันต่อยแล้วเลี้ยงชีพได้ไหม ผมก็ตอบได้เลยว่า ไม่ได้”
“แต่ผมไม่อยากรู้สึกคล้ายคนสมัยก่อน ที่บอกตัวเองว่า เราแก่แล้ว เลิกชกมวยเถอะ มันถึงขีดสุดแล้ว คือถ้าคิดแบบนี้ แสดงว่าแพชชั่นในชีวิตมันหายไป”
“สำหรับผม แพชชั่นตรงนี้มันยังอยู่ อาจเป็นเพราะทำงานเป็นครูสอนกีฬาด้วย ผมเลยต้องแสดงให้คนรุ่นหลังดูว่า ขนาดผมอายุเท่านี้แล้ว ผมยังฟิต ผมยังสู้นะ ผมยังเดินตามความฝันของตัวเองอยู่”
นับตั้งแต่เริ่มทำงานสตันท์แมน เมื่อ 5 ปีก่อน ปราชญ์ยังคงขึ้นสังเวียนต่อสู้ และสั่งสมประสบการณ์ต่อสู้จากหลายเวที ไม่ว่าจะเป็น บราซิลเลียนยิวยิตสูชิงแชมป์ประเทศไทย, การแข่งขัน One Shin Cup หรือ MMA ชิงแชมป์โลกสมัครเล่น โดยรายการบราซิลเลียนยิวยิตสู ปราชญ์ ถือเป็นแชมป์ประเทศไทย 2 สมัยซ้อน
หลังจากปราบยอดฝีมือในประเทศไทยมาพอสมควร ในที่สุด ปราชญ์ ได้เซ็นสัญญากับ ONE Championship องค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับแถวหน้า เพื่อลงแข่งขันในรายการ MMA ในนาม “ซูเปอร์เบสต์” ซึ่งเจ้าตัวได้ประเดิมไฟต์แรก กับ โบรแกน สตอร์ตอิง นักสู้ชาวออสเตรเลีย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
“ผมแข่ง MMA มาตลอด ซึ่งผมก็คว้าแชมป์มาได้หลายรายการ จนผมคิดว่า ไม่เหลือใครในไทยที่ท้าทายฝีมือของผมแล้ว ผมก็เลยยื่นโปรไฟล์ไปที่ ONE แล้วเขาก็ตอบรับมา” ปราชญ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้ลงแข่งขันใน ONE Championship
“แมตช์ที่ผ่านมาเมื่อเดือนสิงหาคม ก็ถือเป็นเวทีอาชีพที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม มันตื่นเต้นนะ (หัวเราะ) ค่อนข้างตื่นเต้นเลย เพราะผมก็รู้อยู่แล้วว่า ทุกคนที่เข้ามาต่อยใน ONE Championship ถือว่าฝีมือไม่ธรรมดากันทั้งนั้น”
แม้จะประเดิมไฟต์แรกด้วยความพ่ายแพ้ เนื่องจากเป็นรองด้านทักษะการปล้ำ ที่เจ้าตัวยอมรับว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญ แต่ ปราชญ์ ไม่คิดจะยอมแพ้ และตั้งตารอที่จะกลับคืนสังเวียน MMA ระดับโลกอีกครั้ง
ยิ่งกว่านั้น ปราชญ์ยังเปิดเผยถึงเป้าหมายใหม่ ซึ่งเป็นความฝันแรกและจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาชื่อนชอบกีฬาตอสู้อย่างทุกวันนี้ นั่นคือ การติดทีมชาติไทย และคว้าเหรียญทองในกีฬามวยสากลสมัครเล่น มาครองให้ได้สักครั้ง
“ความจริงแล้ว ผมอยากไปให้สุดทางการต่อสู้เหมือนกัน ปีนี้ผมตั้งเป้าว่าจะแข่งชิงแชมป์มวยสากลแห่งประเทศไทย เผื่อจะมีโอกาสติดทีมชาติกับเขาบ้าง เพราะความฝันสูงสุดของผมยังเหมือนเดิม คือ การไปโอลิมปิก”
“ผมยังอยากได้เหรียญทองโอลิมปิกอยู่นะ ทุกวันนี้ก็เลยยังทำให้เต็มที่ เพราะผมอยากไปให้สุด ไม่ว่าจะสุดในทางของ MMA หรือ กีฬาต่อสู้อื่นก็ตาม”