ปฏิรูปมวยไทย! เสวนาการปฏิรูปมาตรฐานกลาง ถอดบทเรียนเวทีมวยราชดำเนิน

Home » ปฏิรูปมวยไทย! เสวนาการปฏิรูปมาตรฐานกลาง ถอดบทเรียนเวทีมวยราชดำเนิน


ปฏิรูปมวยไทย! เสวนาการปฏิรูปมาตรฐานกลาง ถอดบทเรียนเวทีมวยราชดำเนิน

กกท. จัดงานเสวนาการปฏิรูปมาตรฐานกลางเพื่อพัฒนามวยไทยอาชีพอย่างยั่งยืน ถอดบทเรียนกรณีศึกษาเวทีมวยราชดำเนิน สู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.65 ห้องประชุมชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงานเสวนาการปฏิรูปมาตรฐานกลางเพื่อพัฒนามวยไทยอาชีพอย่างยั่งยืน โดยมี พลเอก สุชาติ แดงประไพ นายสนามมวยเวทีลุมพินี, นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย, นายนพรัตน์ พุทธรัตนมณี รองประธานจัดการแข่งขันมวยไทยไฟท์ และนายวรศักดิ์ ภักดีคำ ผู้อำนวยการสำนักงาน กกท. จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมเสวนา

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ในรายการการแข่งขันชกมวย “ศึกเพชรยินดี” ที่ได้ปรากฏเป็นข่าวบนสื่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกีฬามวยไทยและประชาชนในวงกว้าง ทำให้เกิดวิกฤตด้านความเชื่อมั่น และศรัทธาที่มีต่อการแข่งขันกีฬามวยลดลง และส่งผลต่อการพัฒนากีฬามวยอาจหยุดชะงัก และอาจมีผลต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมกีฬามวยในทุกมิติ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ในการส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์การเผยแพร่กีฬามวย ที่มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกีฬามวยเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพ ให้เกิดความสงบเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องปฏิรูปวงการกีฬามวยทั้งระบบ โดยเริ่มต้นจาก

1. จัดทำโครงการการรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูปมวยไทย / ประชาพิจารณ์ (Public Hearing) จากผู้ที่เกี่ยวข้อง

2. นำผลจากการรับฟังความคิดเห็นมาแปลงสู่การปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานในด้านต่าง ๆ

3. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยต้องปฏิบัติดามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกีฬามวยไทยโดยตรง

4. แก้ไขกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความเชื่อมั่นในกีฬามวยไทยมิใช่เป็นเพียงแค่กีฬาการต่อสู้ แต่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยซึ่งจะสามารถนำไปขยายผลเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในแบบ

ซอฟพาวเวอร์สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬา จึงมีการส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานมวยไทยอาชีพ สำหรับการใช้ประโยชน์ร่วมกัน จำนวน 5 ด้าน ประกอบด้วย มาตรฐานผู้ฝึกสอนมวยไทย, มาตรฐานการตัดสินกีฬามวยไทย, มาตรฐานการจัดการค่ายมวยไทย, มาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬามวยไทย และมาตรฐานการเรียนการสอนกีฬามวยไทย เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานมวยกลางสำหรับประเทศไทยในการเผยแพร่เพื่อยกระดับมวยไทยให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกในการหาแนวทางป้องกันมิให้เหตุการณ์ที่จะส่งผลต่อการสร้างภาพลักษณ์กีฬามวยไทยที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการต่อสู้ประจำชาติไทยได้รับความเสียหายในอนาคต

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ