ปชป. กร้าว ถ้าสภาล่มอีก รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ชี้ไม่ควรนำประเด็นการเมืองมาเกี่ยวข้อง ยันแม้ นายกฯ หยุดปฏิบติหน้าที่ สภาต้องเดินหน้าต่อ
เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ต่อเนื่องในวาระสอง เป็นครั้งที่ 5 ในวันนี้ (23 ส.ค.) เวลา 13.00 น.ว่า วิปรัฐบาลขอความร่วมมือจากทุกพรรคร่วมรัฐบาล ให้เช็กองค์ประชุมของแต่ละพรรคให้พร้อมเพรียงตั้งแต่เปิดประชุม เพราะเมื่อเปิดประชุมแล้วต้องลงมติทันที
นอกจากนั้นในการประสานงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้มอบให้ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล และนายอรรถกร ศิริลัทยากร ส..ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล เป็นผู้ประสาน
“วิปรัฐบาลยืนยันแนวทางว่าจะต้องเดินหน้าพิจารณางบ วาระ 2 ให้เสร็จและลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ให้ได้ แต่จะลงมติได้ในช่วงเวลาใดนั้น ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของส.ส.ที่จะลดการอภิปรายในเนื้อหาลง เพื่อให้ผ่านมาหากไม่ใช่มาตราหลักก็พิจารณาได้อย่างรวดเร็ว เบื้องต้นทราบว่าแต่ละมาตรา มีผู้ที่ยื่นรายชื่อขออภิปรายไม่เกิน 5 คน แต่การอภิปรายพบว่าส.ส.ที่ไม่ได้แปรญัตติหรือสงวนความเห็นขอเวลาอภิปรายด้วย ทำให้การอภิปรายยืดเยื้อออกไป” นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบปี 2566 จะปล่อยให้เกิดอุบัติเหตุไม่ได้ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลยืนยันชัดเจนให้การประชุมไปจนถึงลงมติวาระ 3 แต่หากลงมติแล้ว องค์ประชุมไม่ครบ ฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการเงิน แต่กรณีดังกล่าว ตนมองว่าฝ่ายค้านต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน เชื่อว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบปี 2566 จะเสร็จตามเวลา และไม่ควรนำประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่าวิปรัฐบาลได้หารือถึงประเด็นความเป็นไปได้ที่ นายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระ 8 ปีหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ไม่มีเหตุการณ์นั้น และแม้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ กระบวนการของสภา ก็ยังเดินหน้าไปได้ เพราะตามกระบวนการหากร่างกฎหมายงบประมาณผ่านวาระ 3 แล้ว เงื่อนไขของสภาก็หมดไป
ส่วนการยุบสภานั้น ตนมองว่าไม่มีเงื่อนไขนำไปสู่จุดนั้น เช่น ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สภาต้องทำหน้าที่ต่อไป เพราะขณะนี้มีร่างพ.ร.บ.ที่รอสภาพิจารณา 10 ฉบับ มีร่างกฎหมายที่ค้างในคณะกรรมาธิการ 15 ฉบับ และร่างกฎหมายที่รอการประชุมร่วมรัฐสภา 7 ฉบับ