"บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" กินดิบ-ต้มสุก อันตรายต่างกันอย่างไรบ้าง

Home » "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" กินดิบ-ต้มสุก อันตรายต่างกันอย่างไรบ้าง
"บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" กินดิบ-ต้มสุก อันตรายต่างกันอย่างไรบ้าง

มีใครชอบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดิบบ้าง จริงๆ แล้วกินได้แต่มีอันตรายอยู่บ้างหากกินมากเกินไป

“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เป็นอาหารที่มีติดบ้านอยู่ทุกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาปกติที่เราจะหยิบมากินเป็นอาหารมื้อเย็น มื้อดึก หรือเป็นอาหารยามลำบาก ด้วยราคาย่อมเยา หาซื้อง่าย และเก็บไว้ได้นาน

แต่นอกจากรูปแบบการรับประทานต้มกับน้ำร้อนจนเส้นสุกแล้ว ยังมีคนนำมารับประทานในรูปแบบของ “กินดิบ” คือนำเครื่องปรุงมาใส่กับเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดิบ ไม่ต้มกับน้ำร้อน กรุบกรอบรสชาติเข้มข้นถึงใจจากเครื่องปรุงเพียวๆ ไม่ใส่น้ำ เป็นอาหารกินง่ายเหมือนขนมหรือของว่าง จึงทำให้เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นวัยทำงานมากมาย

แต่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่กินดิบ อันตรายหรือไม่ ต่างจากการกินแบบต้มสุกอย่างไรบ้าง

“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” กินดิบ-ต้มสุก อันตรายต่างกันอย่างไรบ้าง

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เมื่อกินดิบ จะให้พลังงานประมาณ 200 กิโลแคลอรี่ โดยมีส่วนประกอบคร่าวๆ คือ ไขมัน 11 กรัม เป็นไขมันอิ่มตัวราว 25% ของที่ไม่ควรได้เกินในแต่ละวัน และยังมีโซเดียมราว 60-70% ของที่ร่างกายต้องการ

แม้ว่าจะเป็นอาหารที่ให้พลังงาน แต่ก็เป็นพลังงานที่ไม่ได้มีคุณภาพต่อร่างกายมากนัก เพราะเป็นพลังงานที่ได้จากแป้งและไขมันทั้งสิ้น และที่สำคัญ เมื่อกินแป้งที่ผสมเครื่องปรุงรสจัดแบบดิบๆ ไม่มีเนื้อผสมเจือจางเหมือนการต้มกับน้ำร้อน จะยิ่งทำให้เราคอแห้ง ถ้าหากกินคู่ไปกับการดื่มน้ำอัดลม จะยิ่งทำลายสุขภาพมากขึ้น เพราะในมื้อนั้นจะมีแต่แป้ง น้ำตาล และไขมัน และยังอาจเสี่ยงท้องอืดมากกว่าปกติอีกด้วย

สำหรับพลังงานอาหารที่ได้จากการกินดิบ และต้มเส้นให้สุก อาจจะปริมาณใกล้เคียงกันหากหมายถึงกินน้ำซุปจนหมดเกลี้ยง แต่ในทางกลับกันหากเราไม่ได้ซดน้ำซุบจนขอดก้นถ้วย ก็จะช่วยให้เราได้รับโซเดียมน้อยลงกว่าการกินดิบ ดังนั้นจริงๆ แล้วการกินแบบต้มเส้นให้สุกจึงอาจจะดีต่อร่างกายมากกว่าเล็กน้อย แต่ก็แต่เล็กน้อยเท่านั้น

กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างไร ไม่ให้ทำร้ายสุขภาพ

  1. ไม่รับประทานติดต่อกันมากเกินไป ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 2 มื้อ หรือกินติดกันหลายๆ วัน ควรเว้นระยะในการกิน สลับไปกินอาหารประเภทอื่นบ้าง
  2. ไม่กินบีหมี่กึ่งสำเร็จรูปดิบมาก หรือบ่อยเกินไป
  3. ไม่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปร่วมกับอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูง
  4. ควรใส่วัตถุดิบที่ให้สารอาหารอื่นๆ เพิ่มเติมลงไปด้วย เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่น ไข่ ผัก เห็ด เนื้อสัตว์ต่างๆ ฯลฯ
  5. ไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปรุงจนหมดซอง และไม่จำเป็นต้องซดน้ำซุปจดหมด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ