การเมืองทวีความร้อนแรงตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะซีกฝ่ายรัฐบาลที่ต้องเจอศึกหนัก หลังรัฐสภาเปิดสมัยประชุมใน วันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นไป ทั้งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566
ตามด้วยการพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของพรรคฝ่ายค้าน
ทั้ง 3 วาระนี้คาดว่าจะเกิดในช่วงเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม จากนั้นปิดท้ายด้วยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการตีความว่าจะครบกำหนดในวันที่ 23 สิงหาคม
เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นชี้ชะตารัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น
สําหรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 66 ถ้าไม่ผ่าน นายกฯ ต้องลาออก หรือยุบสภา เพราะ ถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภา ซึ่งถ้าดูจากเสถียรภาพภายในของรัฐบาลเวลานี้ น่าลุ้นระทึกอยู่พอสมควร
แต่ที่เป็นประเด็นร้อนแรงกว่าเกี่ยวกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีแกนนำพรรคฝ่ายค้านยอมรับว่ามีการเปิดดีล เจรจาโน้มน้าว 30 ส.ส.รัฐบาลให้แปรพักตร์หันมาร่วมลงคะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความวิตกกังวลให้กับรัฐบาลเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะกับตัวนายกฯ ที่เคยประสบเหตุทำนองนี้มาแล้วในการโหวตญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อนในเดือนกันยายน 2564
เป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดกำเนิดกบฏพลังประชารัฐ นำโดยร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทยคนปัจจุบัน ซึ่งวิเคราะห์กันว่าจะซ้ำรอยอีก
ตามไทม์ไลน์ของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน คาดว่าจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาประมาณกลางเดือนมิถุนายน ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงน่าจะเกิดขึ้นราวปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคม
อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณาประกอบการยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาวันที่ 1-2 มิถุนายน
ในจังหวะศึกใหญ่คาบเกี่ยวกันหลายเรื่อง น่าคิดว่ารัฐบาลจะชิงยุบสภาก่อนหรือไม่ แต่ถ้าไปถึงจุดนั้นประเทศจะวุ่นวายมาก ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น
จึงมีเสียงเรียกร้องว่า ผู้มีอำนาจควรเร่งรัดให้กฎหมายลูกเลือกตั้งแล้วเสร็จก่อน เพื่อไม่ให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง