คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
เพียงวันหยุด?
วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคมที่เริ่มต้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2475 คงไม่ใช่วันเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกได้อย่างเต็มที่นัก
หลังจากรัฐธรรมนูญของไทยถูกฉีกทิ้งบ่อยครั้ง ไม่ได้อยู่ถาวรหรือมีเสถียรภาพ แม้ในยุคการเมืองร่วมสมัย ยังคงถูกทหารแทรกแซงเป็นระยะ
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นประเด็นความ ขัดแย้งสำคัญที่มีเสียงเรียกร้องให้แก้ไขและ ฝ่ายต้านทานต้องการให้คงอยู่
สถานการณ์การต่อสู้ดิ้นรนของสองฝ่ายแสดงถึงความได้เปรียบกับ-เสียเปรียบอย่างชัดเจน สะท้อนปัญหาที่มาของรัฐธรรมนูญว่าประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการร่าง
อีกทั้งยังผ่านขั้นตอนประชามติในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ในช่วงรัฐประหาร
เมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีกระบวนการที่ ไม่ปรากฏความชอบธรรมเด่นชัด การบังคับ ใช้กฎหมายหลักดังกล่าวจึงส่งผลความขัดแย้งทางสังคมไม่คลี่คลาย
แม้ประเทศผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง มาแล้วตั้งแต่ปี 2562 มีรัฐบาลผสมที่มาจากพรรคการเมืองหลายพรรคที่หาเสียงไว้ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ความไม่เสมอภาคที่เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญยังคงควบคุมระบบกลไกฝ่ายนิติ บัญญัติ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นปมขัดแย้ง
ทั้งส่งผลต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล ที่ต้องอาศัยกลไกประชาธิปไตยและการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่กลับถูกปิดกั้น หรือมองข้าม
แม้แต่กระบวนการประชาพิจารณ์โครงการของรัฐ ก็ไม่ทำให้ชาวบ้าน เชื่อใจและเชื่อมั่น
วาระครบรอบวันรัฐธรรมนูญของไทยปีนี้ ตรงกับช่วงที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจัดการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย หรือ Summit for Democracy วันที่ 9-10 ธ.ค.
ไม่ว่าการประชุมนี้จะเป็นเวทีการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างชาติมหาอำนาจหรือไม่ การที่ไทย ไม่ได้รับเชิญเป็นเสียงหนึ่งที่ย้ำว่า ประชาธิปไตย ยังมีปัญหาหรือยังต้องพัฒนาแก้ไขปรับปรุงอีกมาก
โดยเฉพาะการใช้อำนาจและกลไกทางกฎหมายควบคุมการแสดงความเห็นของประชาชนและ คนรุ่นใหม่ ซึ่งแม้แต่องค์กรเป็นกลางอย่างสหประชาชาติก็แสดงความห่วงใย
ถ้ารัฐบาลยังไม่คิดปรับเปลี่ยนท่าทีนี้ วันรัฐธรรมนูญจะเป็นแค่วันหยุดวันหนึ่งเท่านั้น