บทบรรณาธิการ – เบาลงแต่ยังไม่จบ

Home » บทบรรณาธิการ – เบาลงแต่ยังไม่จบ


บทบรรณาธิการ – เบาลงแต่ยังไม่จบ

การรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 เหมือนจะเบาบางลง ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศลดระดับจากการเป็นโรคติดต่ออันตราย กำหนดใหม่ให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

การลดระดับเนื่องจากสถานการณ์การระบาดทั่วโลกมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตลดลง การแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคในต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง

ประกอบกับจำนวนวัคซีนในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการ ประชาชนได้รับวัคซีนในระดับความครอบคลุมสูง มีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้น จึงได้รับมุมมองต่อโรคให้สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในประเทศและสถานการณ์ปัจจุบัน

แม้โควิด-19 จะไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายอีกต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่อันตราย

ล่าสุด นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์โควิดในไทยสัปดาห์ที่ 45 (6-12 พฤศจิกายน) มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อน

เริ่มพบผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวโดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ ที่ส่วนใหญ่เปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น มีการจัดกิจกรรมมีคนรวมตัวกันมากขึ้น

โดยช่วงเริ่มต้นการระบาดครั้งใหม่ มีลักษณะเป็น “สมอลเวฟ” หรือคลื่นเล็กๆ หลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อมูลแจ้งเตือนโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “เดลตาครอน เอ็กซ์บีซี” พันธุ์ลูกผสม “เดลตา” กับ “โอมิครอน บีเอ.2” ล่าสุดพบระบาดในฟิลิปปินส์ มีศักยภาพโจมตีปอดเหมือนเดลตา แพร่ระบาดรวดเร็วเหมือนโอมิครอน

อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้พอๆ กับเดลตาที่คร่าผู้ติดเชื้อไปถึงร้อยละ 3.4 สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของโอมิครอนเกือบ 2 เท่า

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งสถานบันเทิงในเมือง งานวัฒนธรรมประเพณี กิจกรรมต่างๆ ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี

ข้อมูลกรมควบคุมโรค และศูนย์จีโนมฯ จึงเป็นสัญญาณเตือนว่าโควิด-19 ยังไม่จบ ต้องเฝ้าระวังดูแลตัวเองและคนรอบข้างใกล้ชิด ประมาทเมื่อไหร่ สมอลเวฟอาจยกระดับ เป็น “บิ๊กเวฟ” ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครต้องการให้เป็นเช่นนั้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ