ต่อมาเจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกผู้สื่อข่าวท้องถิ่น 2 ราย ที่รายงานข่าวอยู่ในที่เกิดเหตุ กล่าวหาร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่
นอกจากนี้ยังตรวจค้นบ้าน ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปตรวจสอบ ตลอดจนออกหมายเรียกและค้นบ้านกลุ่มนักกิจกรรม และประชาชนในพื้นที่อีกหลายราย
กลายเป็นความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้
โดยเฉพาะกรณีออกหมายเรียกนักกิจกรรม และประชาชนหลายรายในพื้นที่เกิดเหตุไปสอบปากคำ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการบริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการวิสามัญฯ ของ เจ้าหน้าที่
โดยกลุ่มนักกิจกรรมและประชาชนในพื้นที่จัดตั้งชมรม เปิดรับบริจาคเงินระดมทุนช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เพราะเห็นว่าแม้เป็นฝ่ายผู้ต้องหา แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง
จึงมองว่าควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้วยเช่นกัน กลุ่มนักกิจกรรมและประชาชนจึงเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาครอบครัว ด้วยการจัดตั้งชมรมและเปิดรับบริจาค
แต่ปรากฏว่าการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมดังกล่าว กลับถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกให้ไปพบ
การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 2557 ยุครัฐบาลทหารคสช. ใช้อำนาจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก และพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตรวจค้นที่พักและนำตัวไปซักถาม
แม้หลังการเลือกตั้ง 2562 นโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเหมือนเดิม ด้วยมาตรการทางทหารนำการเมือง และยังคงใช้อย่างเข้มข้นดุดัน
รวมถึงในช่วงนี้ที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง ประกาศถึงความคืบหน้าการพูคคุยสันติสุข แต่ขณะเดียวกันสถานการณ์ในพื้นที่กลับตึงเครียด โดยเฉพาะการเรียกสอบแม้กระทั่งผู้บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม
ปฏิบัติการเหล่านี้ล้วนไม่ส่งผลดีต่อการสร้างสันติสุข และสันติภาพชายแดนใต้