คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
หมดยุคคสช.
การรณรงค์ทางการเมืองเมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคม ที่ปรากฏเด่นชัด ได้แก่ การปลดอาวุธ คสช. หรือให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่ง คสช.
แม้คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หมดสถานะไปแล้ว หลังเคยคุมการปกครองประเทศอยู่ยาวนาน 5 ปี ภายหลังการรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. 2557
อำนาจพิเศษที่เลื่องลือและกลายเป็นปมปัญหามายาวนาน มาจากมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ออกประกาศและคำสั่งฉบับต่างๆ รวม 537 ฉบับ
องค์กรให้ความรู้ทางกฎหมาย หรือไอลอว์ ชี้ว่า ประกาศและคำสั่งมากมายจากยุคคสช. ยังได้รับการรับรองโดยมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป จนกว่าจะมี พ.ร.บ.ยกเลิกหรือแก้ไข
จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ปลดอาวุธ คสช.
การพิจารณาร่างกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. จากเดิมเสนอโดยคณะรัฐมนตรี เพิ่มเป็นร่างที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนฯ และ ร่างที่เสนอโดยภาคประชาชน
ด้วยมุมมองที่มีทั้งคล้ายและแตกต่างกัน การนำเสนอนี้จึงเป็นทางเลือกที่ประชาชนจะได้เห็นแนวทางและเข้าใจร่วมกัน
ส.ส.พรรคฝ่ายค้านระบุว่า รายละเอียดร่างที่ เข้าชื่อเสนอโดย ส.ส. หลายเรื่องมีความสำคัญ เช่น ร่างข้อบังคับการประชุมที่มีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับการทำประชามติ ที่จะเปิดให้ประชาชนริเริ่มเสนอเรื่องต่างๆ ที่สำคัญต่อสังคมได้
หรือประเด็นที่เกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมที่จะทำให้โอกาสการพิจารณาร่างกฎหมายของส.ส. มีมากขึ้น
อีกทั้งเป็นการเสนอแก้ไขเรื่องการตีความที่จะทำให้สภาเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนร่างของประชาชนที่เสนอยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. นั้นเห็นว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาฉุดรั้งการเดินหน้าของประเทศไทย
โดยเฉพาะประกาศ/คำสั่งที่จำกัดเสรีภาพ การแสดงออกของประชาชน มีถึง 9 ฉบับ กลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางสังคมไทยอย่างชัดเจน จนหน่วยงานด้านมนุษยชนของสหประชาชาติแสดงความวิตกและเรียกร้องให้ไทยปรับปรุงปัญหาในส่วนนี้
กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพดังกล่าว ไม่เพียงอาศัยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เท่านั้น ยังแสดงถึงการปฏิบัติที่ใกล้เคียงกับยุคคสช.
เมื่อรัฐบาลยืนยันบ่อยครั้งว่าไม่ได้สืบทอดอำนาจมาจากคสช. จึงสมควรต้องปลดวางอาวุธนี้ลง