ยังมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล กรณีสั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มประชาชนเมื่อช่วงการประชุมเอเปคที่ผ่านมา
โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. เป็นภาพปรากฏไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ยังเผยแพร่ไปทั่วโลก เจ้าหน้าที่ยิงทั้งแก๊สน้ำตา และกระสุนยางใส่กลุ่มผู้ชุมนุมขณะเคลื่อนไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
สถานการณ์วุ่นวายหลายชั่วโมง และบานปลายหนักเมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมบาดเจ็บ โดยเฉพาะรายที่ถูกกระสุนยางยิงเบ้าตาแตกบาดเจ็บสาหัส และผู้ชุมนุมอีกไม่น้อยถูกจับกุมดำเนินคดี
ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็อ้างว่า ได้รับบาดเจ็บด้วยเช่นกันจำนวนหลายราย
นอกจากฝ่ายผู้ชุมนุม องค์กรภาคประชาชนเรียกร้องรัฐบาล รับผิดชอบ และเยียวยาชดใช้ ยังร่วมกันยื่นเรื่องต่อสถานทูตต่างๆ เพื่อฟ้องต่อนานาชาติ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้ความรุนแรงต่อประชาชน
รวมทั้งขอให้ช่วยกดดันรัฐบาลไทยปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง ตั้งแต่การแสดงความรับผิดชอบ ชดใช้ ดำเนินคดีกรณีการสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ ไม่ว่าจะทางอาญา หรือวินัย
อีกประเด็นสำคัญคือ ปฏิรูปการควบคุมฝูงชน โดยต้องยึดหลักการสิทธิมนุษยชนในการชุมนุมตามหลักสากล
ทำหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่เอื้อต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ฝ่ายผู้ชุมนุมเสนอว่า การปฏิรูปควบคุมฝูงชนต้องเป็นการอำนวยความสะดวก ไม่ใช่การขัดขวาง ต่อต้าน ปราบปราม และกำจัดทิ้ง เพราะตามระบอบประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม เพื่อแสดงออกทางจุดยืน ปัญหา ข้อเรียกร้อง
นอกจากนี้ต้องรับประกันด้วยว่าจะไม่มีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบจำเป็นต้องระบุตัวตนให้ได้ เช่น ติดป้ายชื่อ เพื่อความโปร่งใสขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการใช้แก๊สน้ำตา และยิงกระสุนยาง ต้องเพื่อเตือน สกัดยับยั้ง ไม่ใช่ยิงทำร้าย
ปัจจุบันสถานการณ์โดยรวมของประเทศผ่อนคลายมากขึ้นเป็นลำดับ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก คำสั่งคณะปฏิวัติ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน การชุมนุมเรียกร้องปัญหาของประชาชนย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาตามระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น รัฐบาลควรเปิดใจกว้างต่อการชุมนุม ไม่ใช่ส่งเจ้าหน้าที่และกฎหมายขัดขวาง ปราบปราม อย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้