การซื้อขายออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน มีผู้ประกอบกิจการทั้งรายใหญ่รายย่อยเป็นจำนวนมากในทุกจังหวัด
การค้าขายในรูปแบบใหม่นี้ เป็นช่องทางในการประกอบธุรกิจที่ลงทุนไม่มากนัก และพลอยทำให้ธุรกิจอื่นๆ ได้เติบโตไปด้วย
เมื่อการรับส่งพัสดุภัณฑ์ต่างๆ เปิดกว้างมากขึ้น ไม่เพียงแต่จำกัดผูกขาดอยู่ในรัฐวิสาหกิจของรัฐเท่านั้น การแข่งขันในด้านบริการจึงตามมา
ทำให้สามารถเลือกใช้บริการได้อย่างหลากหลายในอัตราค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรมและพึงพอใจ
อย่างไรก็ตาม การค้าขายในรูปแบบนี้มักเกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคขึ้นได้ โดยเฉพาะการหลอกลวงขายสินค้าหรือการขายสินค้าที่ไร้คุณภาพ
จากข้อมูลของกรมการค้าภายในที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ระหว่างเดือนม.ค. -25 ก.ค.2565 พบมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ จำนวน 837 ราย
ตรวจสอบไปแล้ว 623 ราย พบว่าเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ข้อหาไม่แสดงราคาจำหน่ายสินค้า
ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าและรองเท้าแฟชั่น ซึ่งมีโทษเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องเข้มงวดให้มากขึ้น
สำหรับกรณีตรวจสอบไม่พบเจ้าของเพจผู้ถูกร้องเรียน กรมการค้าภายใน ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการต่อไป
โดยจัดส่งข้อมูลเพจที่ถูกร้องเรียนและเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนตรวจสอบหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามโทษานุโทษ
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับเครือข่ายผู้ให้บริการออนไลน์รายใหญ่ระดับโลก เพื่อส่งข้อมูลให้ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหาโพสต์ดังกล่าว แต่กว่าจะดำเนินการก็ต้องใช้เวลา
ขณะที่การค้าขายทางออนไลน์เติบโตขยายขอบเขตขึ้นเรื่อยๆ อาชญากรรมด้านเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ ก็ยิ่งตามมา ดังนั้นรัฐจะต้องมีมาตรการอย่างเข้มข้น เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภค