คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ค่าเหยียบแผ่นดิน
รัฐบาลเตรียมจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา ท่องเที่ยวในประเทศในอัตราคนละ 300 บาท
จุดมุ่งหมายเพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการทำประกันภัยด้านต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย
ถือเป็นงบประมาณค่าบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่จะเรียกเก็บ เพื่อ นำไปสมทบกองทุนเพื่อการส่งเสริมการ ท่องเที่ยวแห่งชาติ
กำหนดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นต้นไป ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายด้าน
ตามพ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 ฉบับปรับปรุง กำหนดไว้ว่าเมื่อได้เก็บเงินดังกล่าวมาได้แล้ว สำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะรับผิดชอบบริหารจัดการ
โดยนำไปพัฒนาภารกิจเกี่ยวกับการ ท่องเที่ยว เช่น สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ได้มาตรฐาน สะอาด และถูกสุขอนามัย
ค่าเหยียบแผ่นดินจำนวน 300 บาทนี้ จะหักออกไปจำนวน 50 บาท เพื่อนำไปทำประกันภัยให้แก่นักท่องเที่ยวทุกคนด้วย กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต จะได้รับการชดเชยในวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือค่ารักษาพยาบาลสูงสุดจำนวน 500,000 บาท
ดูจากรายละเอียด นับว่าเป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ แต่เมื่อเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้น ต้องมีการทำความเข้าใจให้ทั่วถึง
สําหรับวิธีการจัดเก็บเงินส่วนนี้ กระทรวงคมนาคมได้เจรจากับสายการบินต่างๆ โดยให้คิดรวมอยู่ในราคาตั๋วเครื่องบินในคราวเดียวไปเลย
เป้าหมายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปีนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประมาณการว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 1.3-1.8 ล้านล้านบาท
พร้อมทั้งคาดการณ์ด้วยว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้าเที่ยวประเทศไทยประมาณ 5-15 ล้านคน และสร้างรายได้ประมาณ 8 แสนล้านบาท
รวมๆ แล้วถือเป็นแนวคิดที่ดี เพียงแต่ต้องมีการสำรวจวิจัยให้รอบด้าน ว่าในสถานการณ์ที่การท่องเที่ยวตกต่ำ เป็นเวลาที่เหมาะสมหรือยังกับค่าเหยียบแผ่นดินนี้