โครงการคนละครึ่ง เกิดขึ้นเพื่อหวังฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก สําหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย เพื่อให้มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น
ภาครัฐร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไปผ่านฝ่ายของผู้ซื้อร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาสำหรับโครงการระยะแรก รวมวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท
ต่อมา รัฐบาลเห็นความสำเร็จและเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน จึงขยายต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2, ระยะที่ 3 โดยระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.27 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 61,477.82 ล้านบาท
ทั้ง 4 ระยะใช้เงินงบประมาณไปแล้ว กว่า 2 แสนล้านบาท
หลังสิ้นสุดโครงการ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้
ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การจัดหางบประมาณมาอุดหนุน ถ้าหากจะต้องดำเนินการต่อ ซึ่งกระทรวงการคลังจะรอประเมินการจัดเก็บรายได้ ผลกระทบต่อฐานะการคลังให้ชัดเจนอีกครั้ง
สำหรับเงินที่ในโครงการจะมาจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผล กระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่ 70,000 ล้านบาท
ถ้าแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ทำได้เกินเป้า ก็มีช่องว่างสำหรับทำนโยบายนี้ต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ในสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเติมเงินให้แก่ประชาชนเพื่อเกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนให้มากที่สุด หลายฝ่ายจึงเรียกร้องและสนับสนุนให้ขยายโครงการนี้ต่อไปก่อน
ขณะเดียวกัน ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องจัดหารายได้เข้ารัฐให้มากที่สุด โดยไม่หวังพึ่งการจัดเก็บภาษีแต่เพียงอย่างเดียว การส่งออกสินค้าด้านการเกษตร และการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ จึงน่าจะดำเนินการได้พร้อมๆ กัน
นอกจากนี้ การฟื้นธุรกิจรายย่อยต่างๆ ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปโอบอุ้ม หาแหล่งเงินทุนให้ เพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจการต่อไป พร้อมๆ กับการจ้างงาน
สำหรับโครงการคนละครึ่งนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องยกเลิกไปและหาโครงการใหม่ที่ทั้งกระตุ้นรายจ่ายและสร้างรายได้อย่างยั่งยืนแทน