นักโบราณคดีพบ “ระบบอนุรักษ์น้ำ” ในซากเมืองโบราณ-เก่ากว่า 5,000 ปี
นักโบราณคดีพบ “ระบบอนุรักษ์น้ำ” – ซินหัว รายงานว่า คณะนักโบราณคดีของจีนค้นพบระบบอนุรักษ์น้ำ ประกอบด้วยเขื่อน คูน้ำ และโครงสร้างชลประทานที่ “ซากโบราณสือเจียเหอ” เมืองยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุกว่า 5,000 ปี ในมณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน โดยระบบดังกล่าวใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการชลประทานและใช้เขื่อนป้องกันน้ำท่วม
นายฟาง ฉิน ผู้อำนวยการสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลหูเป่ย ระบุว่าซากเมืองโบราณขนาดราว 1,875 ไร่ ถูกล้อมรอบด้วยคูน้ำที่ก่อตัวขึ้นจากแม่น้ำ ซึ่งเคยไหลผ่านหรือไหลอ้อมตัวเมือง
การขุดค้นรอบใหม่เริ่มขึ้นเมื่อปีก่อนขณะหูเป่ยเผชิญภัยแล้งรุนแรง ซึ่งส่งผลให้แม่น้ำและคูน้ำท้องถิ่นเหือดแห้งลงจนนำสู่การค้นพบเขื่อนของระบบแม่น้ำ-คูน้ำโบราณ จำนวน 2 แห่ง โดยเขื่อนเหล่านี้อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อลดน้ำท่วมและกักเก็บน้ำสำหรับชาวเมืองและเกษตรกร
เขื่อนแห่งหนึ่งมีระบบระบายน้ำรูปตัววายซึ่งประกอบด้วยจุดระบายน้ำทิ้ง 2 จุด โดยมีการสันนิษฐานว่าจุดระบายน้ำทิ้งหลักสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วในช่วงฝนตกหรือน้ำท่วมหนัก ขณะจุดระบายน้ำย่อยช่วยระบายน้ำรายวันเพื่อรับรองปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการใช้งานตอนปลายน้ำ เช่น การชลประทานนาข้าว
“การค้นพบนี้บ่งชี้ว่าชาวสือเจียเหอมีแนวคิดอนุรักษ์น้ำที่ล้ำหน้า รวมถึงเชี่ยวชาญด้านการใช้แม่น้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตและการดำรงชีวิต” นายฟางระบุ
ทั้งนี้ คณะนักโบราณคดีเชื่อว่าสือเจียเหอเป็นหนึ่งในเมืองยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่และยืนยาวที่สุดทางตอนกลางของแม่น้ำแยงซี เนื่องจากมีการขุดพบสถานที่บูชายัญขนาดใหญ่ วัตถุหยกวิจิตรจำนวนมาก และถ้วยเครื่องปั้นดินเผาสีแดงที่ถูกผลิตเป็นจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตะลึงพบ “ซากประตูลับ” กว่า 130 บานบนกำแพงเมืองจีน คาดเป็นช่องทางสอดแนม
- พบซาก “ลานบ้านโบราณ” อายุเก่าแก่กว่า 4,000 ปี-คาดจากยุคราชวงศ์หมิง