นักวิจัยพบ “ซากนม” 3,000 ปีบนที่ราบสูงทิเบต-บ่งชี้มีการดื่มนมในยุคโบราณ
นักวิจัยพบ “ซากนม” – ซินหัว รายงานว่าคณะนักวิจัยจีนค้นพบ “ซากนม” อายุกว่า 3,000 ปี จากแหล่งโบราณคดีก้งถัง ในอำเภอหนานมู่หลิน เมืองรื่อคาเจ๋อ เขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และบ่งชี้ว่าชาวบ้านในท้องถิ่นมีการบริโภคนมมานานหลายพันปีก่อน
รายงานระบุว่าชาวทิเบตพัฒนาประเพณีการกินอาหารที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่ราบเพื่อชดเชยการสูญเสียพลังงานและภาวะความไม่สมดุลของอนุมูลอิสระ
โดยผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัวและเนื้อแกะ เป็นอาหารที่กินกันทั่วไปบนที่ราบสูงทิเบต เนื่องจากให้โปรตีนและไขมันเพียงพอสำหรับรักษาระบบเผาผลาญในร่างกายมนุษย์
ส่วนผลิตภัณฑ์นมจากวัวและแพะสามารถบรรเทาการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงที่เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไป ทั้งช่วยเสริมสารต้านอนุมูลอิสระ โปรไบโอติก และสารอาหารต่างๆ และอาจเคยเป็นอาหารประจำวันของชุมชนเลี้ยงสัตว์บนที่ราบสูงทิเบตเมื่อสมัยก่อนประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการค้นพบหลักฐานผลิตภัณฑ์นมโดยตรงจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่สูงของที่ราบสูงทิเบต ยกเว้นร่องรอยบางอย่างจากซากอาหาร
การค้นพบครั้งล่าสุดเป็นผลจากการสืบอายุซากพืชบ่งชี้ว่าสถานที่แห่งนี้มีอายุย้อนไปถึง 3,000 ปีก่อน และนักวิจัยยังค้นพบชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาและวิเคราะห์ชิ้นส่วนจำนวน 6 อันเพื่อหาไขมันตกค้างด้วย
นายจาง อวี่หนาน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบต เผยว่าผู้เชี่ยวชาญพบซากเครื่องปั้นดินเผา 3 ชิ้นมีซากนมหลงเหลืออยู่ ซากเครื่องปั้นเหล่านี้มีอายุสอดคล้องกับแหล่งโบราณคดีก้งถัง ซึ่งพิสูจน์ว่าชาวเมืองยุคก่อนใช้งานภาชนะดังกล่าวจริงๆ
ด้านนายหยาง เสี่ยวเยียน ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหลานโจว กล่าวว่าอายุของซากนมตกค้างที่แหล่งโบราณคดีก้งถังใกล้เคียงกับช่วงเวลาการเพาะเลี้ยงสัตว์และการทำเกษตรกรรมที่แหล่งโบราณคดีชวีก้งในนครลาซา และแหล่งโบราณคดีปังกาในเมืองซานหนาน
อาจบอกเป็นนัยว่าการใช้นมเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นรองบนที่ราบสูงทิเบตมีขึ้นพร้อมกับการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สัตว์ขั้นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จีนทุ่ม 700 ล้านบูรณะ “ที่ทำการไปรษณีย์” เก่า 2,000 ปีบนเส้นทางสายไหมโบราณ
- พบ “ร่องหินส่งน้ำ” เก่าแก่กว่า 1,800 ปี เผยทักษะอนุรักษ์น้ำยุคจีนโบราณ