ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) พบหลักฐานที่เป็นร่องรอยบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของ “อภิมหาเทือกเขา” (Supermountain) 2 แห่งบนโลก ในยุคดึกดำบรรพ์เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน
เทือกเขาขนาดยักษ์นี้มีความสูงไม่น้อยไปกว่าเขาเอเวอเรสต์และทอดตัวยาวเกือบ 10,000 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ายาวกว่าเทือกเขาหิมาลัย 3-4 เท่า
รายงานการค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสาร Earth and Planetary Science Letters ฉบับวันที่ 15 ก.พ. 2022 โดยดร. จู สือยี่ นักวิจัยหลังปริญญาเอกของ ANU เผยว่า อภิมหาเทือกเขายุคโบราณที่พังทลายไปแล้วนี้ นับเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เร่งให้เกิดปรากฎการณ์สำคัญทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตถึง 2 ครั้ง
มีความเป็นไปได้ว่า อภิมหาเทือกเขาที่ก่อตัวขึ้นจากการชนและมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก ได้พังทลายลงจากการกัดเซาะของลมและน้ำรวมทั้งแรงสะเทือนอื่น ๆ ในธรรมชาติเป็นเวลานาน ทำให้แร่ธาตุอย่างเหล็กและฟอสฟอรัสปริมาณมหาศาลที่มีอยู่ในเทือกเขาขนาดยักษ์เหล่านี้ ถูกพัดพาลงสู่มหาสมุทรและออกมาปะปนในอากาศ ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับชั้นบรรยากาศโลก รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดวิวัฒนาการและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล
ทีมผู้วิจัยทราบถึงตำแหน่งที่ตั้งและช่วงเวลาที่อภิมหาเทือกเขาเคยอยู่บนโลกได้ ด้วยการสำรวจหาแหล่งแร่ธาตุที่มีอยู่เฉพาะในภาวะความดันสูงใต้ฐานของเทือกเขาขนาดใหญ่เท่านั้น เช่นผลึกของเซอร์คอน (Zircon) อัญมณีกึ่งมีค่าชนิดหนึ่งที่มีธาตุหายากคือลูทีเชียม (Lutetium) ปะปนอยู่ด้วย
ผลการศึกษาพบว่ามีผลึกของเซอร์คอนจำนวนมากที่ชั้นตะกอนก้นมหาสมุทรในบางพื้นที่ ซึ่งบ่งบอกถึงการมีอยู่ของอภิมหาเทือกเขาสองแห่งในสองช่วงธรณีกาลของโลก
อภิมหาเทือกเขาแห่งแรกมีชื่อว่า “ทรานส์กอนด์วานัน” (Transgondwanan Supermountain) เป็นที่รู้จักในหมู่นักธรณีวิทยาซึ่งตั้งสมมติฐานถึงการดำรงอยู่ของมันในอดีตมานานหลายสิบปีแล้ว อภิมหาเทือกเขานี้เคยอยู่บนมหาทวีปกอนด์วานาเมื่อ 650-500 ล้านปีก่อน โดยมีความยาวราว 8,000 กิโลเมตร
อภิมหาเทือกเขาที่ถูกค้นพบอีกแห่งหนึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า ตั้งอยู่บนมหาทวีปนูนา (Nuna) หรือมหาทวีปโคลัมเบีย (Columbia) เมื่อ 1.0-1.5 พันล้านปีก่อน มีความยาวราว 8,000 กิโลเมตรเช่นเดียวกัน
การก่อตัวของอภิมหาเทือกเขานูนา สอดคล้องกับช่วงเวลาที่โลกเริ่มเกิดสิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วยเซลล์แบบยูคาริโอต ซึ่งมีนิวเคลียสและส่วนประกอบอื่น ๆ อยู่ภายในเยื่อหุ้มเซลล์ โดยต่อมาส่งมีชีวิตจำพวกนี้ได้วิวัฒนาการไปเป็นพืช สัตว์ และเห็ดรา
ส่วนการก่อตัวของอภิมหาเทือกเขาทรานส์กอนด์วานัน สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เกิดการขยายตัวครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ ๆ หลายชนิดพันธุ์ในมหาสมุทร เมื่อช่วงยุคแคมเบรียนราว 541 ล้านปีก่อน
นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังพบร่องรอยของช่วงเวลาที่ไม่มีการก่อตัวของเทือกเขาขนาดยักษ์เลย เมื่อราว 1,700-750 ล้านปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่นักบรรพชีวินวิทยาเรียกว่า “หนึ่งพันล้านปีที่น่าเบื่อ” เนื่องจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรดูเหมือนจะหยุดชะงักลง การค้นพบนี้จึงชี้ถึงบทบาทสำคัญของอภิมหาเทือกเขา ที่จะขาดไปเสียไม่ได้ในเส้นทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์