Highlight
- ทะลุวังเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนักกิจกรรม 3 คน คือ ตะวัน ใบปอ และสายน้ำ โดยทั้ง 3 คนร่วมกันยืนถือกระดาษทำโพลตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกมาตรา 112
- กลุ่มทะลุวังถูกดำเนินคดีและส่งตัวเข้าเรือนจำหลายคน เช่นเดียวกับวิธีการประท้วงด้วยการ “อดอาหาร” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียกร้องที่แตกต่างกันออกไป
- กิจกรรมล่าสุดที่ทำให้กลุ่มทะลุวังถูกตั้งคำถามเรื่องพฤติกรรมและการแสดงออกที่ก้าวร้าว คือกรณีที่ทะลุวังบุกไปประท้วงที่พรรคเพื่อไทย
- หลังจากกลุ่มทะลุวังบุกพรรคเพื่อไทย ก็มีภาพของหยกปรากฏออกมา และสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย ถึงพฤติกรรมรุนแรงของการเป็นด่านหน้าการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับควรได้รับการคุ้มครองในฐานะเยาวชน
มาจนถึงวันนี้ เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ “ทะลุวัง” กลุ่มนักกิจกรรมที่มีบทบาทและเคลื่อนไหวในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การเมือง ระบบการศึกษา และนักโทษทางการเมือง ด้วยกิจกรรมที่โดดเด่นและสร้างความสนใจให้กับคนในสังคม นำมาซึ่งการถกเถียง ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ แล้ว “ทะลุวัง” ที่มีวิธีการเรียกร้องที่อาจจะดู “รุนแรง” ในสายตาคนส่วนใหญ่ในสังคม คือใคร? และทำไมต้องออกมาเรียกร้องในลักษณะนี้
Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จักกลุ่มทะลุวัง นักขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้า หรือ “เยาวชนเจ้าปัญหา” ที่สังคมตั้งข้อสงสัย
จุดเริ่มต้น “ทะลุวัง”
ทะลุวังเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนักกิจกรรม 3 คน คือ ตะวัน ใบปอ และสายน้ำ โดยทั้ง 3 คนร่วมกันยืนถือกระดาษทำโพลตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกมาตรา 112 บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งกิจกรรมในครั้งนั้นมีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยทั้ง 3 คนให้เหตุผลที่เลือกทำกิจกรรมทำโพลว่าเป็นกิจกรรมที่มีความรัดกุม ไม่ต้องปราศรัยที่อาจจะเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี
ทะลุวัง – ThaluWang
ต่อมา ตะวัน ใบปอ และสายน้ำ ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการชูสามนิ้วและชูป้าย “ยกเลิกมาตรา 112” ขณะที่ในหลวงเสด็จบริเวณพื้นที่วงเวียนใหญ่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังรวบตัว และถูกดำเนินคดีในข้อหาส่งเสียงกังหรือกระทำการอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร ก่อนที่นักกิจกรรมทั้ง 3 คนจะเคลื่อนไหวอีกครั้งที่ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งการเคลื่อนไหวของตะวัน ใบปอ และสายน้ำ เป็นการจุดประกายให้นักกิจกรรมอื่น ๆ เคลื่อนไหวในพื้นที่ของตัวเอง
เฟสบุ๊กเพจ “ทะลุวัง” ถูกสร้างขึ้นในวันที่ 28 มกราคม 2565 โดยมีตะวัน ใบปอ และสายน้ำ เป็นสมาชิกรุ่นแรก และยังทำกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปผ่านการทำโพลต่อไป โดยเฉพาะโพลเรื่อง “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง การถูกดำเนินคดี และรูปแบบการต่อสู้ที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ทะลุวังก็มีสมาชิกใหม่ ๆ เข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังก็ทำให้สมาชิกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 และอีกหลายคดี
ทะลุวัง – ThaluWang
การประท้วงอดอาหาร
กลุ่มทะลุวังถูกดำเนินคดีและส่งตัวเข้าเรือนจำหลายคน เช่นเดียวกับวิธีการประท้วงด้วยการ “อดอาหาร” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียกร้องที่แตกต่างกันออกไป เริ่มจากการอดอาหารประท้วงของบุ้งและใบปอ หลังจากศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ซึ่งทั้ง 2 คนประท้วงอดอาหารนานถึง 62 วัน
ตะวันและแบมก็ประท้วงด้วยการอดอาหารเช่นเดียวกัน หลังจากยื่นขอถอนประกันตัวเอง เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมคนอื่นที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ พร้อมประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่
- ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
- ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
- พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116
ทะลุวัง – ThaluWang
การแสดงออกที่ถูกตั้งคำถาม
กิจกรรมล่าสุดที่ทำให้กลุ่มทะลุวังถูกตั้งคำถามเรื่องพฤติกรรมและการแสดงออกที่ก้าวร้าว คือกรณีที่ทะลุวังบุกไปประท้วงที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการแถลงจัดตั้งรัฐบาล ของแกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย มีการใช้อารมณ์และใช้ถ้อยคำด่าทอที่หยาบคาย เช่นเดียวกับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งชูป้ายเรียกร้อง ฉีดแอลกอฮอล์หน้าที่ทำการพัก พ่นสเปรย์สีดำ ขว้างพลุสี ไปจนถึงการขวางรถของนักการเมือง จนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างแกนนะทะลุวังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสื่อมวลชนในพื้นที่
เช่นเดียวกับการหารือจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ที่ทะลุวังก็บุกเข้าไปในพื้นที่ พร้อมนำป้าย “เห็นด้วยหรือไม่ถ้าเพื่อไทยจับมือกับเผด็จการ” ให้ประชาชนใส่ความเห็น ก่อนที่จะตะโกนต่อว่าและโรยแป้งบบริเวณที่ทำการพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐจะลงมาแถลงข่าวผลการหารือต่อสื่อมวลชน ทำให้ต้องยกเลิกการแถลงข่าวไป
ไข่แมวชีส
การแสดงจุดยืนของกลุ่มทะลุวังในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมอย่างหนัก ขณะที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ให้สัมภาษณ์กับ PPTV ระบุว่ารู้สึกห่วงใยกลุ่มทะลุวัง พร้อมชี้ว่าหากยังใช้วิธีการชุมนุมประท้วงในลักษณะนี้ ก็มีโอกาสจะทำให้การเคลื่อนไหวถูกลดทอนคุณค่า และสุดท้ายทะลุวังจะเคลื่อนไหวอย่างโดดเดี่ยว
อย่างไรก็ตาม ทะลุวังยังคงทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมือง และประเด็นทางสังคมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
เสียงสะท้อนจากสมาชิกเก่า
หลังจากกลุ่มทะลุวังบุกพรรคเพื่อไทย ก็มีภาพของหยก เยาวชนวัย 15 ปีที่ร่วมขับเคลื่อนกับกลุ่ม ปรากฏออกมา และสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย ถึงพฤติกรรมรุนแรงของการเป็นด่านหน้าการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับควรได้รับการคุ้มครองในฐานะเยาวชน ซึ่งประเด็นนี้ ก็ทำให้พลอย อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวังและผู้ลี้ภัย ม.112 ออกมาโพสต์เล่าเรื่องราวของตัวเอง ขณะอยู่ภายใต้การดูแลของบุ้ง โดยเธอระบุว่า “บุ้งชอบให้เด็กออกมาเคลื่อนไหว เทคแอคชั่นแรงๆ โดยบุ้งบอกกับเราว่าเรายังเด็ก ต่อให้โดนคดีก็ยังไม่โดนหนักเพราะยังมีศาลเยาวชน และเด็กถ้าเจอค.รุนแรงเช่น ตำรวจจับ บลาๆ จะเป็นข่าวง่าย ขอทุนง่าย ไวรัลง่ายกว่า แล้วบุ้งอ้างว่าจะซัพพอร์ตน้องๆอยู่ข้างหลังแทน”
สอดคล้องกับมิน นักกิจกรรมกลุ่มนักเรียนเลว ที่ออกมาทวีตข้อความว่า “พลอยกับบุ้งเคยเคลื่อนไหวกับนักเรียนเลวในช่วงแรก (ก่อนต้นปี 64) ตอนนั้นก็เกิดข้อขัดแย้งคล้าย ๆ กัน หนึ่งในนั้นคือความเป็นผู้ใหญ่เพียงหนึ่งเดียวของบุ้งที่เข้ากับบางคนในกลุ่มที่เป็นเด็กซะส่วนใหญ่ไม่ได้ ก็มีการเปิดวงคุยกันเพื่อเคลียปัญหาหลายรอบ จนมีการเชิญคนนอกมาเป็นคนกลางในการพูดคุย แต่ก็ไม่ลงตัวกัน”
ด้านจอม ไฟเย็น ผู้ลี้ภัย ม.112 ก็ได้ออกมาเล่าเรื่องราวแม่ของหยก โดยเขาระบุว่าแม่ของหยกรับรู้และเคารพแนวทางการต่อสู้ของหยก แต่วันที่หยกถูกปล่อยจากเรือนจำ บุ้งกลับพาหยกกลับบ้านตัวเองและแนะนำให้หยกคัดทะเบียนบ้านออกจากบ้านของแม่ พร้อมชี้ว่า ที่บุ้งบอกว่าติดต่อแม่หยกไม่ได้ ไม่เป็นความจริง
“แม่น้องไม่เคยคุยกับบุ้งเพราะไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าบุ้งคือใคร (ไอ้ที่บุ้งไปหลอกสื่อว่าติดต่อแม่น้องไม่ได้-หาแม่น้องไม่เจอ-น้องไม่มีผปค. นั่นเรื่องโกหกทั้งเพ) วันแรกน้องขอพักกับพี่ๆก่อนแม่น้องก็ยังไม่ได้ว่าอะไร ปรากฎว่าวันต่อมาบุ้งพยายามแนะนำให้น้องแอบไป “คัดทะเบียนบ้านออกจากบ้านแม่ไปอยู่บ้านบุ้ง” โดยไม่บอกแม่น้องก่อน”
เช่นเดียวกับเมนู อีกหนึ่งอดีตสมาชิกทะลุวัง ก็ออกมาตั้งคำถามเรื่องสมาชิกของกลุ่มที่มีประวัติข่มขืน การใช้ถ้อยคำหรือพฤติกรรมโจมตี รปภ. และการโพสต์ข้อความเหยียดกลุ่มออทิสติก
เรื่องราวที่ถูกเล่าอ้างจากหลาย ๆ คนที่เคยเกี่ยวข้องกับกลุ่มทะลุวัง ทำให้หลายคนเป็นห่วงสวัสดิภาพของหยก แต่หยกก็ได้โพสต์ข้อความชี้แจง ระบุว่าบุ้งดูแลและสนับสนุนเธอเป็นอย่างดี และเธอไม่ใช่เหยื่อของบุ้ง เช่นเดียวกับนักกิจกรรมทะลุวังคนอื่น ๆ ที่ออกมายืนยันว่าบุ้งไม่เคยบังคับหรือบงการใคร และยังไม่มีแถลงอย่างเป็นทางการจากกลุ่มทะลุวัง