วันที่ 9 พ.ย. รอยเตอร์ รายงานผลการประชุมลับของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอสซี ประเด็นสถานการณ์เมียนมาว่า นายมาร์ติน กริฟฟิธส์ หัวหน้าด้านการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและผู้ประสานงานด้านบรรเทาภัยฉุกเฉินแห่งสหประชาชาติเตือนว่าสถานการณ์มนุษยธรรมในเมียนมากำลังเลวร้ายลง ประชาชนกว่า 3 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือเพื่อรักษาชีวิต เนื่องจากความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจตกต่ำเลวร้ายลง
การประชุมลับของยูเอ็นเอสซีในประเด็นเมียนมา ตรงกับโอกาสครบรอบ 1 ปี วันเลือกตั้งของเมียนมา 8 พ.ย.2563 ที่ลงเอยด้วยชัยชนะของพรรคเอ็นแอลดี ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี แต่ถูกรัฐประหารต่อมาวันที่ 1 ก.พ.2564

แฟ้มภาพ นางซู จี ไปลงคะแนนเลือกตั้งเมื่อปี 2563
นายสเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกยูเอ็นระบุว่า จากการสังเกตการณ์ของนานาชาติและชาวเมียนมาเองเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นอิสระและยุติธรรม ยูเอ็นจึงขอย้ำต่อกองทัพเมียนมาให้เคารพเจตจำนงของประชาชนและนำพาประเทศหวนกลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย
นายเจมส์ คาริวกี รองเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำยูเอ็นกล่าวว่า สหราชอาณาจักรต้องการให้ยูเอ็นเอสซีจัดประชุมครั้งนี้เพราะกังวลต่อความเคลื่อนไหวของกองทัพเมียนมาทางตะวันตกเฉียงเหนือ มีลักษณะคล้ายความโหดร้ายที่กระทำต่อชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่ เมื่อ 4 ปีก่อน

บ้านเรือนชาวโรฮิงยาที่รัฐยะไข่ถูกทหารเผาวอด / FILE PHOTO: Aerial view of a burned Rohingya village near Maungdaw, north of Rakhine state, Myanmar September 27, 2017. REUTERS/Soe Zeya Tun/File Photo
การปราบปรามครั้งนั้นทำให้ชาวโรฮิงยาจนต้องอพยพหนีตายจากรัฐยะไข่ไปประเทศบังกลาเทศกว่า 730,000 คน และเป็นข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กองทัพเมียนมากำลังเผชิญที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

การอพยพครั้งใหญ่ของชาวโรฮิงยา ปี 2560
ขณะที่นายกริฟฟิธส์รายงานต่อที่ประชุมตรงกันว่า สถานการณ์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาน่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากการต่อสู้รุนแรงขึ้นระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังปกป้องผืนแผ่นดินชิน ในรัฐชิน
รวมถึงระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังป้องกันประชาชนในภูมิภาคมาเกวและสะกาย ซึ่งมีประชาชนกว่า 37,000 คน รวมถึงเด็กและผู้หญิง ต้องไร้ที่อยู่และบ้านเรือนกว่า 160 หลังคาเรือนถูกเผารวมถึงโบสถ์และสำนักงานองค์กรด้านมนุษยธรรม

CHIN JOURNAL
การโจมตียังมีต่อพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมและสิ่งอำนวยความสะดวก อันเป็นเรื่องต้องห้ามในกฎหมายระหว่างประเทศ และทหารเมียนมาต้องหยุดการกระทำดังกล่าวทันที
+++++
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คณะผู้สืบสวนยูเอ็น พบหลักฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ภายใต้รัฐบาลทหารพม่า