ตรัง ผู้ป่วยโควิด รักษาที่บ้าน ไม่มีข้าวกิน บางครอบครัวติด 2 คน ได้แค่กล่องเดียว ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่มีเงินซื้อ ATK อสม.ต้องระดมขอความช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 นางปรีดา ไพเราะ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข 2 เทศบาลนครตรัง ซึ่งรับผิดชอบทั้งหมด 5 ชุมชน พร้อมด้วยนายเจริญ พลอินทร์ ผู้ช่วยนายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เดินทางนำถุงยังชีพเข้าช่วยเหลือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้ติดเชื้อที่พักรักษาตัวอยู่กับบ้าน
ทั้งนี้ พบว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูงบางราย ซึ่งมีอาชีพรับจ้าง หรือประเภทหาเช้ากินค่ำ ต้องอาศัยอยู่บ้านเช่า และกลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพราะเพื่อนในที่ทำงานติดเชื้อ แต่ไม่มีเงินซื้อชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง จึงต้องเดินทางไปขอรับการตรวจหาเชื้อที่ รพ.ตรัง โดยรอเป็นเวลาครึ่งวัน จนถึงเวลาคลินิกนอกราชการ 18.30 น. ปรากฏว่า ไม่ได้ตรวจ จึงกลับมากักตัวต่อที่บ้าน รอไปตรวจใหม่ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน
บางรายผ่านการตรวจพบติดเชื้อ และเข้าระบบรักษาของ รพ.ตรัง แล้ว ได้รับยาฟ้าทะลายโจร รวมทั้งยาอื่นๆ และชุดตรวจเช็กร่างกายมาพักรักษาตัวอยู่กับบ้าน แต่ไม่มีการช่วยเหลือทั้งเรื่องถุงยังชีพ และข้าวกล่อง
“ขณะที่บางครอบครัวตรวจพบติดเชื้อพร้อมกัน 2 คน พักรักษาตัวอยู่ในบ้านเดียวกันมา 1 วันแล้ว แต่ได้รับข้าวกล่องในมื้อแรกเพียง 1 กล่องเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ทาง อสม.ต้องระดมขอความช่วยเหลือถุงยังชีพจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาในเบื้องต้น”
นางปรีดา เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัญหาที่ อสม.ประสบมี 4 ลักษณะคือ 1.ผู้ติดเชื้อรักษาตัวอยู่กับบ้าน บางคนไม่ได้รับถุงยังชีพ บางคนไม่ได้รับข้าวกล่อง ตนจึงต้องติดต่อขอถุงยังชีพจากผู้ช่วย ส.ส.ในพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน
2.บางคนเป็นคนหาเช้ากินค่ำ เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่มีเงินซื้อชุดตรวจ ATK ก็ร้องขอมาที่ อสม. ซึ่ง อสม.ก็ไม่สามารถจะเบิกชุดตรวจจากที่ไหนได้ ก็จำเป็นต้องควักเงินส่วนตัวซื้อไปให้ตรวจ หรือช่วยตรวจให้เอง เพื่อช่วยเหลือ
3.ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใกล้ชิด กับผู้ติดเชื้อด้วยผลตรวจ ATK แต่ไม่กล้าเปิดเผยตัว และเปิดตัว จึงต้องกักตัวเองอยู่กับบ้าน และไม่มีถุงยังชีพ ไม่มีข้าวกล่อง ต่างจากการระบาดครั้งก่อน ที่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะต้องกักตัวตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค ก็จะได้รับถุงยังชีพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การระบาดครั้งนี้ ไม่มีการช่วยเหลือ ก็ร้องขอความช่วยเหลือมาที่ อสม.เช่นกัน จึงต้องประสาน ส.ส.ในพื้นที่ช่วยถุงยังชีพ
และ 4. ปัญหาผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่กับบ้าน และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านในลักษณะที่เป็นชุมชนแออัด ทำให้ชาวบ้านที่เหลือหวาดผวาหวั่นเชื้อจะแพร่ระบาดเข้าสู่ชุมชน เนื่องจากในชุมชนมีเด็กๆ วิ่งเล่นเป็นจำนวนมาก