ตรวจน้ำลายหา “โควิด-19” น่าเชื่อถือแค่ไหน?

Home » ตรวจน้ำลายหา “โควิด-19” น่าเชื่อถือแค่ไหน?
ตรวจน้ำลายหา “โควิด-19” น่าเชื่อถือแค่ไหน?

ในยุคที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การดูแลตนเองให้ดี เป็นพื้นฐานของการป้องกันตนเองให้พ้นจากการติดเชื้อที่ทำได้ง่าย โดยต้องเคร่งครัดและไม่ประมาทขณะเดียวกันการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเอง ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้

ซึ่งหากทราบผลการทดสอบในเบื้องต้นว่าติดเชื้อ ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเองด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นวิธีที่เริ่มมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย 

ซึ่งมีทั้งการตรวจโดยใช้การเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจจากหลังโพรงจมูกด้านหน้า (nasal swab) และการเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย (saliva) หากผลการทดสอบแสดงผลว่าติดเชื้อ ก็จะต้องมีการตรวจด้วย RT-PCR หรือ Real Time Polymerase Chain Reaction ต่อไป เพื่อเป็นการยืนยันผลการทดสอบ 

ตรวจน้ำลายหา “โควิด-19”

ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การใช้น้ำลายเป็นตัวอย่างในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ โดยมีความแม่นยำเทียบเคียงกับวิธีการเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูก มีข้อดีคือใช้อุปกรณ์น้อย ไม่ระคายเคือง และเป็นวิธีการเก็บตัวอย่างที่สะดวกมาก สามารถเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเอง จากผลการประเมินประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ด้วยตัวอย่างน้ำลาย ก็ได้ผลที่ไม่แตกต่างจากการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก อีกทั้งชุดตรวจยังได้มีการนำเทคโนโลยีนาโนคาร์บอนมาใช้ สามารถตรวจได้ในขั้นตอนเดียว ไม่ต้องใช้น้ำยาบัฟเฟอร์ จึงช่วยให้การตรวจทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น

ข้อดีของการตรวจน้ำลายหาโควิด-19

ข้อดีของการตรวจแบบเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย คือ ความสะดวกในการใช้งาน เพียงเก็บน้ำลายอย่างถูกวิธีและใช้ชุดตรวจจุ่มลงในภาชนะเก็บน้ำลาย จากนั้นรอผลประมาณ 15 นาที ก็สามารถรู้ผลได้ทันที ขณะที่การใช้ไม้ swab (สว็อบ) ในการตรวจด้วยตนเองนั้น จะต้องใส่ไปตามแนวของฐานจมูกตรงๆ เข้าไปจนสุด แล้วจึงหมุนไม้ swab เบาๆ จากนั้นทิ้งไว้สักครู่จึงค่อยๆ ดึงไม้ swab ออก ซึ่งถ้าตรวจไม่ถูกวิธี ก็จะรู้สึกกว่าใส่ไม้ swab ได้ไม่ลึก มักมีอาการเจ็บ และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในโพรงจมูก หรือเลือดกำเดาไหลได้ และทำให้ผลที่ได้จากการตรวจอาจคลาดเคลื่อน

ดร.เอกวัฒน์ กล่าวและเสริมว่า “การเก็บตัวอย่างจากน้ำลายมีข้อดีคือ ผู้ป่วยสามารถเก็บตัวอย่างได้เอง ลดการแพร่กระจายเชื้อจากตัวผู้ป่วยไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปกติแล้วในการเก็บตัวอย่างทั้งจากที่โพรงจมูกและลำคอ ผู้เก็บตัวอย่างที่เป็นแพทย์หรือพยาบาลจะต้องใส่เครื่องป้องกันที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงในการเก็บตัวอย่าง ดังนั้น การเก็บตัวอย่างด้วยน้ำลาย ซึ่งผู้ป่วยสามารถเก็บตัวอย่างได้เอง เก็บได้ง่าย สะดวก จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องป้องกันได้อีกด้วย”  

ตรวจน้ำลายหา “โควิด-19” น่าเชื่อถือแค่ไหน?

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดมาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับผู้ป่วยที่ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ต้องสงสัยจำนวนมาก ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการทำวิจัยเปรียบเทียบในการใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่าง การเก็บตัวอย่างจากการเก็บเชื้อจากโพรงจมูกและเก็บเชื้อจากลำคอ ร่วมกับการเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย เพื่อนำมาตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งจากผลการวิจัยสรุปได้ว่า ตัวอย่างที่เก็บจากน้ำลาย จากโพรงจมูก และลำคอให้ผลที่ใกล้เคียงกัน 

วิธีตรวจน้ำลายหาโควิด-19

สำหรับการเก็บตัวอย่างจากน้ำลายนั้นทำได้ง่าย โดยให้ผู้ตรวจเก็บตัวอย่างด้วยการกระแอมให้มีน้ำลายออกมาจากลำคอผสมปนกับน้ำลายในช่องปาก บ้วนน้ำลายลงในภาชนะรองรับที่บรรจุอยู่ในกล่องชุดตรวจ จากนั้นใช้ชุดตรวจตามขั้นตอนการใช้งาน และเนื่องจากเป็นวิธีการที่ไม่ระคายเคือง เมื่อเทียบกับการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก ดังนั้นวิธีนี้จะนำไปสู่การลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อจากตัวผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยไปยังแพทย์หรือพยาบาลที่มีหน้าที่ในการเก็บตัวอย่างด้วย

เตรียมตัวก่อนตรวจน้ำลายหาโควิด-19

ข้อแนะนำในการเก็บตัวอย่างน้ำลายให้ได้คุณภาพ คือ ผู้ตรวจควรงดการแปรงฟัน งดการบ้วนปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ งดการดื่มเครื่องดื่มและรับประทานอาหาร รวมทั้งงดสูบบุหรี่ งดเคี้ยวหมากฝรั่ง และแนะนำให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดก่อนเก็บตัวอย่างอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ได้น้ำลายสำหรับการตรวจที่ยังมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่มากพอ 

การเก็บตัวอย่างจากน้ำลายเป็นวิธีการตรวจที่เหมาะสำหรับคนทั่วไป รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุ และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกรณีที่มีการระบาดในวงกว้าง และต้องการเก็บตัวอย่างปริมาณมาก ๆ ภายในเวลารวดเร็ว เพราะผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อสามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น การเก็บตัวอย่างจากน้ำลายจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสโควิด-19

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ