ดีแคท หรือสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา เซ็นลงนามสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ 5 ปี วางเป้าหมายร่วมกันต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาทุกรูปแบบ
ดีแคท หรือสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา (DCAT) จับมือสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในด้านการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ที่ห้องประชุมทรัพย์มณี โรงแรมทาวน์อินทาวน์ เมื่อ 20 ก.ค. 65 โดยมี นายแพทย์มีชัย อินวู๊ด ผอ.สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา และนายปรัชญา กีรนันท์ นายกสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ร่วมจรดปากกาลงนามในความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย
สำหรับวัตถุประสงค์ของการร่วมลงนามในครั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬา โดยยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ข่าวสาร ความรู้ด้านวิชาการสารต้องห้ามทางการกีฬาระหว่างกัน รวมไปถึงส่งเสริม สนับสนุน ในการตรวจสอบสารต้องห้ามทางการกีฬาของสมาคม และยังเป็นการพัฒนาความรู้ของบุคลากรและนักกีฬาในสังกัดสมาคม เรื่องการควบคุมสารต้องห้าม การใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา
- ซัลบาดอร์ พร้อมเดินหน้า เตรียมนำทัพ19ปีบู๊ทัวร์นาเมนต์พิเศษที่เวียดนาม
นายแพทย์มีชัย เผยว่า อย่างที่ทราบกันก่อนหน้านี้ว่าสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ตกเป็นจำเลยในเรื่องสารต้องห้ามทางการกีฬามาก่อน ทว่าเวลานี้สมาคมและสำนักงานร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปได้แล้ว อย่างไรก็ตามในระยะเวลาหลังจากนี้ ดีแคทและสมาคม ยังมีงานที่ต้องทำร่วมกันอีกมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกฎ กติกา และมารยาท ซับซ้อนขึ้น จึงตัดสินใจลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
“การลงนามฉบับนี้ จะเป็นความร่วมมือในเรื่องที่สำนักงานจะต้องไปตรวจสอบสารต้องห้าม ให้ความรู้นักกีฬา ส่วนสมาคมจะต้องกำกับดูแลนักกีฬา สโมสร และผู้ฝึกสอน ซึ่งในตัวของข้อมูลเรื่องสารต้องห้ามในวงการกีฬาโลกเวลานี้มีอัพเดตอยู่เรื่อยๆ และเปลี่ยนบ่อยมาก ดังนั้นหากเราไม่ทำงานใกล้ชิดกัน อาจจะเกิดปัญหา นักกีฬาและสมาคมอาจจะปรับตัวไม่ทัน ซึ่งข้อดีของการลงนามในครั้งนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนั้นไป”
“เอกสารต่างๆ ทั้งแบบภาษาไทยและอังกฤษจะสามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น จากการที่เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ต่อตัวนักกีฬา สมาคม และวงการกีฬาไทยด้วย”
“เราจะพยายามเน้นให้ความรู้มากๆ เพราะในสังคมโลกตอนนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วจะช่วยในเรื่องของสารต้องห้ามมากกว่าติดตามลงไปตรวจ เพราะว่าจำนวนตัวอย่างที่จะเก็บเกินความสามารถกว่าทุกประเทศในโลก ดังนั้นหากจะตรวจให้ได้ผลจริงๆ ต้องตรวจนักกีฬาทุกคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาลมาก”
“ในทางกลับกัน หากเราให้ความรู้ที่ถูกต้องว่าไม่ต้องใช้สารต้องห้าม นักกีฬาสามารถเก่งได้ ตรงนี้จะเป็นผลดีกับตัวนักกีฬาและวงการกีฬาที่ชัดเจนมากขึ้น โดยสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในความหวังเหรียญรางวัลของประเทศไทยและประสบปัญหามาก่อน จะเป็นการนำร่องความร่วมระหว่างดีแคทกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยด้วย” นพ.มีชัย กล่าว
ด้านนายปรัชญา เผยว่า การลงนามความร่วมมือกับทางดีแคท นอกจากจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสมาคมกีฬายกน้ำหนักแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ความตั้งใจในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาทุกรูปแบบไม่ให้เกิดขึ้นในวงการกีฬายกน้ำหนักไทย โดยสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา จะเข้ามาร่วมมือทั้งการให้ความรู้แก่นักกีฬา เจ้าหน้าที่ สโมสรต่างๆ รวมถึงจัดประมวลผล ติดตามผลการให้ความรู้ และให้คำปรึกษา เพื่อหาแนวทางร่วมในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามอย่างใกล้ชิด ในห้วงระยะเวลาของสัญญายาว 5 ปี