“ดอน” แจงสภา ชี้ สหรัฐฯ จัดประชุมสุดยอดประเทศประชาธิปไตย เป็นเวทีการเมืองใช้เล่นงานกัน ยัน เยือน เมียนมาร์ ไม่ได้ ลับๆล่อๆ เผย โลกขอให้เป็นตัวกลาง เชื่อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สอน งานการต่างประเทศไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศ เหน็บไม่ใช่มนุษย์พันธุ์หิวแสง
เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 25 พ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ต่อกรณีที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เดินทางเยือนประเทศเมียนมาร์ เมื่อ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเข้าพบผู้นำรัฐบาลทหารของประเทศเมียนมาร์ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการเยือนแบบลับๆ ล่อๆ ที่ถูกมองว่าทำไปเพื่อรับรองรัฐบาลทหารเมียนมาร์และการเจรจาผลประโยชน์
- อ่าน : สุทิน ฟันธง ดอน ไปเยือนเมียนมา ต้นเหตุสหรัฐไม่เชิญไทย ร่วมประชุม
โดย นายดอน ชี้แจงยืนยันว่า การเดินทางไปประเทศเมียนมาร์ไม่ได้ทำแบบลับๆ ล่อๆ แต่ไม่จำเป็นต้องโพนทะนา เพราะกระทรวงการต่างประเทศไม่ใช่หน่วยงานที่หิวแสง อีกทั้งการเดินทางไปประเทศเมียนมาร์ของตน เนื่องจากเคยทำงานในโต๊ะเมียนมาร์ กระทรวงการต่างประเทศ มานานถึง 40 ปี จึงทราบพัฒนาการต่างๆ และยังเป็นการเข้ามอบสิ่งของ เวชภัณฑ์ ที่ได้รับบริจาคจากภาคเอกชน รวม 17 องค์กร ทั้งเป็นองค์กรต่างชาติ เช่น ยูนิเซฟดับบลิวเอชโอ องค์กรการกุศลคริสเตียน รวมถึงมูลนิธิของไทย เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น โดยมอบให้กับกาชาดสากล ซึ่งไทยมีเส้นทางพิเศษ คือ ศูนย์ช่วยเหลือทางไกลด้านโลจิสติกส์ฉุกเฉิน หรือ เดลซ่า โดยมีของบริจาครวม 17 ตัน แต่รอบแรกขนไปได้เพียง 11 ตัน ส่วนที่เหลือจะขนส่งตามไปอีกครั้ง นอกจากนั้น ในการหารือหน่วยงานดังกล่าวมีประเด็นเดียว คือ การช่วยเหลือเมียนมาร์
“ผมไปฐานะเพื่อนบ้าน ตามหลักสิทธิมนุษยธรรม และเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ อีกทั้งประเทศเมียนมาร์เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ เพราะมีชายแดนติดต่อไทยกว่า 2.4 พันกิโลเมตร ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับคำร้องขอจากกลุ่มประเทศอาเซียน และการเรียกร้องจากนานานประเทศ หลังจากที่เดินทางไปประชุมที่สหรัฐอเมริกา ให้ช่วยดูแล ดังนั้น เป็นความจำเป็น และตกลงว่าไม่ให้มีข่าว แต่เมื่อมีข่าวจากฝั่งเมียนมาร์ จึงต้องชี้แจง” นายดอน กล่าว
นายดอน ชี้แจงด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวระบุว่า มีการบริจาควัคซีนของไทยที่ได้รับบริจาคนั้น คือ ข่าวปล่อย ข้อเท็จจริงไม่มีสิ่งของจากรัฐบาล มีแค่ของบริจาคจากภาคเอกชน และเรื่องวัคซีนแม้จะรับหรือจะให้ต้องมีกระบวนการ เช่น ทำเอ็มโอยู ระหว่างเจ้าของวัคซีนด้วย ซึ่งเป็นกติกาสากล อีกทั้งการให้หรือรับต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย
“ที่นั่งเทียนหรือบอกข่าวชาวบ้าน ให้ข้อคิดเห็น เป็นข้อมูลที่ผิดพลาด คือ เฟกนิวส์ ซึ่งเกิดขึ้นทุกวันในบ้านเรา สำหรับนักเล่าข่าว สื่อหรือใครก็ตามในแวดวง เมื่อได้ยินก็ขยายความออกไปในเชิงบิดเบือน ถึงขึ้นเป็นเฟกนิวส์ ผมยืนยันว่าไม่ได้ไปแบบลับๆ ล่อๆ แต่การทำงานของกระทรวงการต่างประเทศไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศ เราทำงานหวังความสำเร็จ เป็นประโยชน์กับประเทศ และประชาชนไม่ว่าฝ่ายใด ทำด้วยความรอบคอบ ไม่ใช่มนุษย์พันธุ์หิวแสง” รมว.ต่างประเทศ กล่าว
นายดอน ชี้แจงด้วยว่า การเมืองระหว่างประเทศไม่มีอะไรที่แน่นอน ความพยายามที่สร้างสรรค์ สามารถทำคู่ขนานกับความขัดแย้งได้ เหมือนเคยมีคำกล่าวว่า ไฟท์ ไฟท์ ทอล์ก ทอล์ก คือ พยายามคุยกันตลอดเวลา ด้านการต่างประเทศนั้น ตนยอมรับว่ามีผู้แทนพิเศษเอ็นเอสจี ขอให้ไทยเป็นตัวกลางเกือบทุกเรื่อง
นายดอน กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้แทนสหรัฐที่เดินทางมาประเทศไทย เป็นข่าวที่สิงคโปร์ แต่ไทยไม่ให้ข่าว มีประเด็นขอให้ช่วย โดยต้องการให้ไทยเป็นผู้นำอาเซียนในการประสานกับเมียนมาร์ แต่เป็นเรื่องที่พูดหรือเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งการพูดคุยกับเมียนมาร์ ที่ผ่านมาเป็นประโยชน์ และเขาเห็นด้วยในหลักการที่จะร่วมมือกับอาเซียน และนานาชาติ ดูแลปัญหาทุกข์สุขของประชาชน และสิ่งที่ได้คุยกับเมียนมาร์ ได้รับความเห็นชอบในหลักการ และได้พูดกับประเทศตะวันตกหลายประเทศ ซึ่งทุกประเทศอยากมีส่วนร่วม
รมว.ต่างประเทศ ยังชี้แจงประเด็นที่สหรัฐฯ ไม่เชิญประเทศไทยร่วมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ เป็นเรื่องการเมืองที่ต้องการเล่นงานกันและกัน และกรณีนี้ไม่ใช่ว่าเพื่อนอาเซียนที่เป็นประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งจะได้รับเชิญเช่นกัน ดังนั้น ไม่เชิญไม่แปลก บางเรื่องดีใจที่ไม่ได้รับเชิญ แต่หากเชิญ เราต้องพิจารณาว่าจะไปหรือไม่ เพราะหลายกรณีเป็นดาบสองคม ไม่ใช่ไม่มีคำเชิญแล้วต้องกระทืบเท้าเสียใจ ขณะเดียวกันแม้เราจะได้รับเชิญก็ไม่ต้องลิงโลด โลกเป็นจริงไม่เป็นแบบนั้น ความจริงของชีวิตต่างประเทศไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผมอยากนัดทานข้าวกับท่าน เพื่อเล่าให้ฟังในหลายมุม
นายดอน กล่าวด้วยว่า สำหรับท่าทีของไทยที่มีต่อเมียนมาร์ในการทำรัฐประหารนั้น เราพยายามสื่อสารว่าให้หาช่องทางพุดคุยปรองดอง แบ่งสรรอำนาจ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ไปเยือนมานั้น ตนก็ยังคุยว่าต้องหยุดความรุนแรง และปล่อยนักโทษทางการเมืองโดยเร็ว