ดร.นฤมล หวั่นดอกเบี้ยโลกขึ้นแรงดันบาทอ่อน คาดกนง.ทยอยขยับดอกเบี้ยหนุนทุกฝ่ายปรับตัว

Home » ดร.นฤมล หวั่นดอกเบี้ยโลกขึ้นแรงดันบาทอ่อน คาดกนง.ทยอยขยับดอกเบี้ยหนุนทุกฝ่ายปรับตัว


ดร.นฤมล หวั่นดอกเบี้ยโลกขึ้นแรงดันบาทอ่อน คาดกนง.ทยอยขยับดอกเบี้ยหนุนทุกฝ่ายปรับตัว

ดร.นฤมล หวั่นดอกเบี้ยโลกขึ้นแรงดันบาทอ่อน คาดกนง.ทยอยขยับดอกเบี้ยหนุนทุกฝ่ายปรับตัว

วันที่ 9 ก.ย.65 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ส่วนตัว ชี้ให้เห็นถึงทิศทางดอกเบี้ยของโลกซึ่งวานนี้(8ก.ย.) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.75% ตามคาด เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มขึ้นจาก 8.9% ในเดือนกรกฎาคม มาแตะระดับ 9.1% ในเดือนสิงหาคม จากปัจจัยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้นับว่าเพิ่มมากที่สุดตั้งแต่ปีค.ศ. 1999 ซึ่งนอกจากจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อแล้ว ยังมีแรงกดดันจากเงินยูโรที่อ่อนค่าลง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังหวังผลในการช่วยประคองค่าเงินยูโรไม่ให้อ่อนค่ามากและเร็วเกินไป

จากแถลงการณ์ของธนาคารกลางยุโรป ที่ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อ ยังคงสูงเกินไปมาก และการตัดสินใจในครั้งต่อไปจะพิจารณาบนฐานของข้อมูลว่าจะจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพิ่มอย่างไร นั่นหมายความว่า มีแนวโน้มที่ธนาคารกลางยุโรปยังจะขึ้นดอกเบี้ยต่อในอีก 2 รอบการประชุมที่เหลือของปี 2565

สำหรับสหรัฐอเมริกา วานนี้เช่นกัน นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ได้กล่าวย้ำประสบการณ์ในอดีต และสอนเราว่า การใช้นโยบายทางการเงินที่อ่อนเกินไป ทำให้เราไม่สามารถเอาชนะปัญหาเงินเฟ้อได้ จึงขอยืนยันว่าจะให้นโยบายที่เข้มงวดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อรอบนี้ให้ชนะ จึงคาดการณ์ได้ว่า เฟดมีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก +0.75% เป็นรอบที่สามของปีนี้ ในการประชุมเฟดวันที่ 21 กันยายน นักวิเคราะห์คาดกันว่าการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวมีความน่าจะเป็นสูงถึง 86%

มองกลับมาที่ไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เพิ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% ไปเมื่อ 10 สิงหาคม ด้วยเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ดีเกินกว่าประเทศอื่นไปมาก ถ้าอัตราเงินเฟ้อไม่สามารถลดลงเข้ากรอบเป้าหมาย ภายในสิ้นปีตามที่ กนง. คาดไว้ กนง. ก็จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในภายหลัง แต่แนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากกว่าคือ กนง. น่าจะค่อย ๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสปรับตัว

ขณะเดียวกันไม่เพิ่มต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจมากและเร็วเกินไป เพื่อเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม หากยุโรป และอเมริกา ต่างขึ้นดอกเบี้ยกันในอัตราที่สูงมากและหลายรอบ ย่อมส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า ภาคธุรกิจที่ต้นทุนมีความอ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยนควรเตรียมแผนป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ