ซีอิ๊วขาวเค็มน้อยกว่าน้ำปลา แปลว่าดีต่อสุขภาพมากกว่า เรื่องนี้จริงหรือไม่?
“เครื่องปรุง” โดยเฉพาะรสเค็มที่มีโซเดียมสูง เป็นหนึ่งในเครื่องปรุงเจ้าปัญหาที่เป็นสาเหตุของโรคไต ความดันโลหิตสูง และโรคอื่นๆ จึงมีการรณรงค์ให้ลดเค็มอยู่บ่อยๆ เครื่องปรุงที่ให้รสเค็มก็มีอยู่มากมาย แต่ที่มักจะใช้ปรุงอาหารบ่อยๆ คงหนีไม่พ้น น้ำปลา และซีอิ๊วขาว แต่ที่หลายคนสงสัยคือ ซีอิ๊วขาวเค็มน้อยกว่าน้ำปลา แปลว่าดีต่อสุขภาพมากกว่า เรื่องนี้จริงหรือไม่ Sanook Health มีคำตอบจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มาฝากกัน
ซีอิ๊วขาว VS น้ำปลา เครื่องปรุงไหนมี “โซเดียม” มากกว่ากัน?
ซีอิ๊วขาว และน้ำปลาเป็นผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งอาหารให้เกิดรสเค็ม เนื่องจากมีการใช้เกลือซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เมื่อเทียบกับปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวันไม่เกิน ๒,๐๐๐ มิลลิกรัม (สำหรับผู้ใหญ่สุขภาพดี)
- ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 960 – 1,420 มิลลิกรัม
- นํ้าปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,160 – 1,420 มิลลิกรัม
- เกลือ 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ทั้งซีอิ๊วขาว และน้ำปลามีปริมาณเกลือโซเดียมใกล้เคียงกัน ความปลอดภัยไม่ต่างกัน ดังนั้นสามารถเลือกรับประทานซีอิ๊วขาว และน้ำปลาได้ไม่ต่างกัน
อันตรายจากการรับประทานโซเดียมมากเกินไป
หากได้รับโซเดียมมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคไตได้
วิธีลดการบริโภคโซเดียม
- ระวังการรับประทานซีอิ๊วขาว น้ำปลา และเกลือบริโภครวมกันไม่ให้ปริมาณโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน
- แนะนำให้อ่านฉลากเพื่อพิจารณาปริมาณโซเดียมที่จะได้รับก่อนรับประทาน
- ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนซื้อทุกครั้ง โดยสังเกตเครื่องหมาย อย. บนฉลาก
อ่านเพิ่มเติม
- ระวัง “โซเดียม” ใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”
- “โซเดียม” ยาพิษในทุกจานโปรด กับ 8 วิธีลดความเค็มก่อนไตพัง