วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 รศ.ดร.อภินันท์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำว่า มาตรการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น การส่งนากและปลานักล่าไปจัดการ จับมาทำเมนูอาหาร แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หรือทำน้ำหมักชีวภาพ อาจไม่ทันการณ์ เนื่องจากปลาหมอคางดำเกิดง่ายตายยาก และสามารถปรับสภาพอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม หรือน้ำเน่า ทำให้แพร่พันธุ์ได้เร็วมาก
การแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่สามารถควบคุมได้โดยเร็ว ปลาหมอคางดำอาจยึดพื้นที่แม่น้ำและแหล่งน้ำทั่วประเทศ โดยเฉพาะจากการเคลื่อนย้ายจากคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การแจกจ่ายลูกพันธุ์ปลาที่อาจมีลูกปลาหมอคางดำติดไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติโดยการเคลื่อนตัวจากภาคใต้ขึ้นไปยังพื้นที่ตอนบนของประเทศ ซึ่งอาจขยับขึ้นไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ คาดว่าในไม่ช้าปลาหมอคางดำจะขยายไปถึงจังหวัดชัยนาทและนครสวรรค์
- กรมราชทัณฑ์ เปลี่ยนเมนู! ปลาหมอคางดำ ขึ้นโต๊ะนักโทษ ได้ลิ้มลอง
- กรมประมง โต้กลับ ไข่ปลาหมอคางดำ ไม่ทนต่อแดด ตามที่มีกระแส
- ซีพีเอฟ จับมือ 3 ม.ดังและโรงงานผลิตปลาป่น แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ
รศ.ดร.อภินันท์ เสนอว่า หากสถานการณ์เกินเยียวยา การใช้ไซยาไนด์อาจเป็นมาตรการสุดท้ายที่จำเป็นเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ แม้ว่าวิธีนี้อาจดูโหดร้าย แต่เป็นวิธีที่เด็ดขาดและสามารถทำได้จริง ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการควบคุมเฉพาะ เช่น การบล็อกพื้นที่ต้นน้ำปลายน้ำ และการดำเนินการต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.อภินันท์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ไซยาไนด์เป็นสารที่พบตามธรรมชาติและจะไม่ตกค้างในแหล่งน้ำ หากมีการศึกษาเรื่องปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่และระยะเวลาปลอดภัยที่จะกลับเข้าไปฟื้นฟูปลาไทย การใช้วิธีนี้อาจลดความเสียหายต่อภาคการเกษตร เศรษฐกิจ ระบบนิเวศ และทรัพยากรแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกหนึ่งวิธีในการป้องกันการรุกรานของปลาหมอคางดำ คือการทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ โดยการสร้างความสมดุลให้กับปลาไทยเจ้าถิ่น ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ปลาหมอคางดำเข้ามายึดพื้นที่ได้ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ดำเนินโครงการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยส่งเสริมการสร้างโรงเพาะฟักในแต่ละท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำยม เพื่อให้ประชาชนเพาะเลี้ยงและสร้างมูลค่าให้กับปลาของแต่ละท้องถิ่น เมื่อปลาไทยเจ้าถิ่นมีจำนวนมากพอ จะสามารถป้องกันการรุกล้ำของปลาต่างถิ่นได้
โครงการเพาะปลาท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำยมจะเป็นโครงการต้นแบบที่จะขยายผลไปยังทุกลุ่มน้ำในประเทศไทยในอนาคต