ชาวบ้านท้ายเขื่อนภูมิพล โวย เสียสละมา 50 ปี แต่ยังไม่ได้เอกสารสิทธิ ติง กรมป่าไม้ ไม่จริงใจ เมินส่งคนตอบข้อข้องใจ แฉรุกหนักหวังของบ
วันที่ 30 ก.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณสนามองค์การบริหารส่วนตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่องที่ดินทำกินและปัญหาทั่วไปของชุมชน ซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เช่น อำเภอ กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ พรรคการเมือง เข้าร่วมรับฟังปัญหาโดยมีชาวบ้านและผู้นำหมู่บ้านในตำบลฮอดและตำบลนาคาเรือกว่า 200 คนเข้าร่วม
ทั้งนี้ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านของอำเภอฮอด อำเภอจอมทอง และ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ซึ่งภายหลังจากการก่อสร้างเขื่อนทำให้ชาวบ้านต้องอพยพโยกย้ายหาพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน โดยเข้าจับจองพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ และคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2513 ได้มอบมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เช่าที่ดินจากกรมป่าไม้จัดสรรให้ชาวบ้าน
นายสุพจน์ ริจ่าม ประธานเครือข่ายสหกรณ์นิคม 4 ภาค กล่าวว่า ชาวบ้านที่อาศัยที่ดินบริเวณนี้ย้ายหนีเขื่อนมาจับจองกันโดยมีเป็นสมาชิกสหกรณ์ เราหวังว่าจะได้เอกสารสิทธิ โดยมีมติคณะรัฐมนตรีให้ทำกินตั้งแต่ปี 2513 โดยที่กรมป่าไม้มอบพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดพื้นที่ให้ชาวบ้าน แต่ขณะนี้สัญญาเช่าหมดอายุและยังไม่มีการต่อทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง
“เราไม่ต้องการเข้าสู่ระบบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และต้องเช่าที่ดินไปตลอดชีวิต ตอนนี้ได้ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเพื่อให้เกิดทางออก ขณะที่กรมป่าไม้ต้องการรุกทุกพื้นที่ เขาต้องการเอาที่ดิน 1.5 ล้านไร่คืน เพราะต้องการเอาไปบริหารและของบประมาณจัดการเอง”นายสุพจน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางผู้จัดได้เชิญตัวแทนของกรมป่าไม้มาชี้แจง แต่ตัวแทนที่มาร่วมงานเป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่สามารถตอบข้อข้องใจของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ให้ความสำคัญต่อชุมชน
ขณะที่ หัวหน้าอุทยานฯออบหลวง กล่าวว่าประกาศเป็นอุทยานฯปี 2534 ใน 3 อำเภอ 9 ตำบล เนื้อที่กว่า 3.4 แสนไร่ รัฐบาลให้คนอยู่กับป่าได้จึงมีการสำรวจซึ่งเราได้ปิดประกาศและเข้าหาชุมชน ใน 34 หมู่บ้าน 1.9 หมื่นไร่ ในอดีตอยู่ผิดกฏหมายตอนนี้ต้องแก้ให้อยู่ถูกต้อง
ซึ่งหลังจากได้รับคำร้องได้ลงพื้นที่โดยมีข้อแม้ที่รัฐบาลกำหนดคือต้องอยู่ก่อนปี 2541 ส่วนคนหลัง 2541 ให้ขอคืนแต่ยกเว้นให้ผู้ยากจนยากไร้โดยมีผู้นำชุมชนเป็นกรรมการพิจารณา และคนที่ทำกินหลังเดือนมิถุนาย 2557 ถือว่าเป็นการบุกรุกใหม่โดยมีภาพถ่ายทางอากาศยืนยัน แต่ตอนนี้มีบางบ้านในเขตอุทยานฯที่ไม่ให้รังวัดซึ่งก็จะขอบันทึกไว้ แต่ท่านก็ต้องอยู่อย่างผิดกฎหมายต่อไป
นายศักดิ์ชัย เยมู ชาวบ้านแม่งูด กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่ของชาวบ้านมี 2 เรื่องคือเรามีความอึดอัด อยากให้หน่วยงานชี้แจงเรื่องที่ปฎิบัติต่อชาวบ้าน ชาวบ้านยอมเสียสละเวลา 1 วัน เพราะมีความเดือดร้อนจริงๆ แต่ป่าไม้ไม่ส่งคนมาชี้แจงแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจ ทั้งๆที่ชาวบ้านต้องการสะท้อนปัญหาที่ทำกิน แต่กลับไม่ให้ความสำคัญเพราะเวลาเช่นนี้หาได้ยาก
ที่ผ่านมาชาวบ้านนาคอเรือมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินมาโดยตลอดแทบทุกคนกว่า 10 หมู่บ้าน ถ้าจะโค่นต้นไม้ 1-2 ต้นก็ไม่ได้เพราะถูกอ้างสิทธิของเขา เรารักป่าและดูแลพื้นที่จริงๆ เขาอ้างว่าเป็นเจ้าของพื้นที่แต่ไม่เคยเห็นหัว ขณะที่อทุทยานฯก็อ้างแต่กฎหมาย ควรใช้ดุลพินิจด้วยเหตุและผล ตนเชื่อว่าชาวบ้านแม้ไม่รู้หนังสือแต่มีเหตุมีผล แต่เขามองชาวบ้านเป็นตัวตลกเอากฎหมายมาข่มขู่ข่มเหง คนที่ไม่รู้ก็กลัว
“ก่อนที่กรมอุทยานฯจะเข้ามาวัดพื้นที่ ไม่เคยเข้ามาพบชาวบ้าน หรือมาคุยกับเราก่อน หรือให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รู้ก่อน หากเป็นเช่นนี้คงอยู่ด้วยกันลำบากเพราะเกิดความขัดแย้งขึ้นแน่ ไม่ใช่เอากฎหมายมาข่มขู่หรืออ้างอย่างเดียว ที่เราเสียใจมากเพราะป่าไม้ส่งแค่ตัวแทนมา แทนที่จะส่งคนที่ชี้แจงได้มา แถมตอนนี้ยังมีคนอ้างเป็นเจ้าหน้าที่คอยตรวยจค้นชาวบ้าน”นายศักดิ์ชัย กล่าว
ขณะที่ นายแดง กันทะแก้ว ผู้ใหญ่บ้านวังลุง กล่าวว่า ชาวบ้านทำกินที่หมู่บ้านมานาน แต่ปี 2535 อุทยานฯประกาศทับที่ดินของชาวบ้าน ที่สำคัญคือก่อนมาสำรวจควรแจ้งผู้นำก่อน ซึ่งจะไม่เกิดเรื่องขึ้นเลย เราทำกินมาตั้งแต่ปี 2511 ก่อนอุทยานฯจะมา ต้องเข้าใจว่าพื้นที่เป็นที่ดินทำกินมาก่อน จะมาสำรวจชาวบ้านก็อยากดูเหตุผล ถ้าเป็นป่าเอาไปเราไม่ว่า แต่นี่เป็นที่ทำกินจู่ๆจะเอาไปเป็นป่า เราทำไร่ทำนามาตลอด ชาวบ้านลำบากจริงๆ
พ่อหลวงจันแก้ว จีนะ ผู้ใหญ่บ้านแม่ป่าไผ่ กล่าวว่าประชาชนเลี้ยงวัวกันหนัก ตอนนี้กำลังเดือดร้อนเพราะบางทีลืมปิดประตู เจ้าของวัวต้องจ่ายค่าเสียหายตลอด แต่ตอนหลังไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายเพราะทุ่งหญ้าอยู่ในเขต กฟผ. และจะเอาผิดวัวอย่างเดียว ชาวบ้านร้อยละ 80 มีวัว อยากให้หน่วยงานชี้แจงด้วย
นายนิรันดร ปันติ๊บ ตัวแทนปศุสัตว์ กล่าวว่า ชาวบ้านถูกโยกย้ายจากนโยบายของรัฐจากริมแม่น้ำปิงมาอยู่ท้ายเขื่อน เราถูกทิ้งเพราะไม่ได้เอกสารสิทธิ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย เพราะทำให้ขาดโอกาส เช่น การสร้างถนน การเอาน้ำเอาไฟเข้า เราต้องยกเลิกเขตป่าไม้และอุทยาน
นายอุดม ตัวแทนนิคมสหกรณ์แม่แจ่ม กล่าวว่า เราได้รับมอบพื้นที่ กว่า 4.6 หมื่นไร่ แต่เหลือแท้ๆ 2 หมื่นไร่เพราะทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ และหนังสืออนุญาตหมดอายุ ทำให้เราต้องอยู่กันแบบเถื่อนๆตั้งแต่ปี 2560 ตอนนี้นิคมแม่แจ่มฯยื่นผ่านอำเภอฮอด แต่กรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ไปรับใบอนุญาตแต่ต้องไปจ่ายค่าเช่าให้กรมป่าไม้ แต่มีปัญหา ทำให้เราไม่ได้รับอนุญาตต่างๆ เช่น หนังสือรับรองการทำกินการเกษตร หลังจากหนังสืออนุญาตหมดไป
นายบุญเลิศ พรมผัด ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอฮอด กล่าวว่า พอเวลาไฟป่ามารีบแจ้งให้ชาวบ้านไปดับ แต่พอเวลาชาวบ้านบุกรุกไปนิดก็จ้องแต่จับกุม แทนที่จะมาคุยกันก่อน คนมีเงินไม่ถูกจับ
นายวันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด กล่าวว่าปัญหาที่ทำกินของพี่น้อง 2ตำบลนับหมื่นคน พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวงประกาศทับ รวมทั้งเขตป่าไม้ ป่าอนุรักษ์ เขตกฟภ. เขตกรมธนารักษ์ พวกเราเป็นผู้เสียสละ ตั้งแต่สร้างเขื่อนยันฮี แต่พี่น้องมาประชุมครั้งนี้ ต้องการเอกสารสิทธิ์ ที่ทำกินให้ถูกตามกฎหมาย