จุลพันธ์ รมช.คลัง ย้ำเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องใช้ในภูมิลำเนา ถ้าแทบไม่กลับบ้านเลย ก็ย้ายทะเบียนบ้านเถอะครับ
(3 ต.ค.66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้านโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทว่า กระทรวงการคลังได้นำเสนอเรื่องต่อ ครม. เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นรองประธานฯ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เป็นรองประธานฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นรองประธานฯ และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นรองประธานฯ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เป็นกรรมการ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นกรรมการ และปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ นอกจากนี้ยังมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผอ.สำนักงบประมาณ คณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด และ ผบ.ตร. ร่วมเป็นกรรมการ
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ถือว่าองค์ประกอบครบองคาพยพ เพราะสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ที่จะพิจารณากรอบนโยบายทและวงงบประมาณ แหล่งที่มางบประมาณ กลไกการดำเนินการต่างๆ รวมถึงเมื่อนโยบายได้ริเริ่มแล้ว จะมีหน้าที่ในการติดตาม และตรวจสอบการทุจริตต่างๆ ด้วย พร้อมทั้งทำหน้าที่สรุปผลทว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร เพื่อรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป
ส่วนเรื่องกรอบระยะทางนั้นใช้ภายใน 4 กิโลเมตร เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ ซึ่งจากการรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน มีแนวโน้มจะขยายกรอบพื้นที่ เพราะ 4 กิโลเมตร ผมในฐานะ สส.ต่างจังหวัด บางหมู่บ้านก็ตึงจริง แทบหาอะไรไม่ได้เลย แต่สุดท้ายต้องรอคนฟันธงคือคณะกรรมการ
ยืนยันว่าโครงการนี้ ไม่มีการกั้นใครออกจากระบบ ร้านค้าสามารถดำเนินการได้ทั้งรายเล็กรายใหญ่ มันจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และความต้องการของประชาชน สิ่งที่เราล็อกไว้ 2 อย่าง คือกรอบระยะเวลา และระยะเวลาในการใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะเวลาเพื่อให้เกิดการใช้เร็วที่สุด ส่วนกรอบระยะทาง จะ 4 กิโลเมตรหรืออะไรก็ตาม ยืนยันว่าเม็ดเงินหมุนอยู่ในชุมชน
ส่วนเรื่องแหล่งเงิน ยืนยันว่าเราไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้และตั้งเป้าเหมือนเดิมคือ เริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 ก.พ. 67
เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่าหากนโยบายนี้ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่เป็นอย่างที่คิด ใครจะรับผิดชอบ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กลไกในการทำ เราเชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิดพายุเศรษฐกิจทั่วประเทศ เป้าหมายที่นายกฯ วางไว้คือการเจริญเติบโตจีดีพีของปีถัดไป อย่างต่ำ 5% เชื่อว่ากลไกดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหนึ่งกลไกที่เราทำ เราจะสามารถดึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่คาดไว้ได้
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ และเดินหน้ากระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ทุกนโยบายมีทั้งบวกและลบ แต่เราจะลิมิตความเสียหายหรือความผิดพลาดอย่างไร หากเป็นประโยชน์เราต้องเดินหน้าให้มันสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน
คำถามที่ว่าใครจะรับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย นายจุลพันธ์ตอบว่า “ผมเป็นนักการเมืองนะครับ ถ้าประเทศเสียหาย ผมก็รับผิดชอบร่วมกัน อย่างน้อยประชาชนก็ไม่เลือกพวกผมกลับมา”
ส่วนประเด็นที่ว่า ถ้าคนย้ายไปทำงานต่างถิ่น แต่ทะเบียนบ้านอยู่อีกที่หนึ่ง แทบจะไม่ได้กลับบ้านเลย การกลับไปใช้เงินเป็นเรื่องยากและไม่คุ้ม นายจุลพันธ์ตอบว่า “เราก็ยังยืนยันว่าอยากให้กลับไปใช้ที่ชุมชนเดิม ถ้าท่านแทบจะไม่กลับบ้านเลย ท่านก็ย้ายทะเบียนบ้านมาเถอะครับ (หัวเราะ) แต่เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านได้ ส่วนน้อยเดี๋ยวมาหาหนทางกัน จากการพูดคุยมีรายละเอียดอีกเยอะมาก แตกต่างกันแล้วแต่กรณี กลไกเราต้องมีกติกาหลักให้ทุกคนยึดถือ ถ้าเราจะเปิดช่องให้กับทุกกรณี ในทางปฏิบัติเราก็เดินหน้าไม่ได้เราอยากให้ท่านได้กลับบ้านไปใช้”