จีนมุงเต็มบ้าน : ไขรหัสวิถียูทูบเบอร์เมืองจีนจากการเกาะกระแสความดัง "เฉิน หงฉาน"

Home » จีนมุงเต็มบ้าน : ไขรหัสวิถียูทูบเบอร์เมืองจีนจากการเกาะกระแสความดัง "เฉิน หงฉาน"
จีนมุงเต็มบ้าน : ไขรหัสวิถียูทูบเบอร์เมืองจีนจากการเกาะกระแสความดัง "เฉิน หงฉาน"

หลังประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงก็จะถาโถมเข้ามาใส่ นั่นเป็นธรรมดาของทุกสายอาชีพ ทว่าสำหรับนักกีฬาชาวจีนอย่าง เฉิน หงฉาน ดูเหมือนสถานการณ์ชีวิตของเธอจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเร็วเป็นพิเศษจนเธอตั้งตัวไม่ติด

นักกระโดดน้ำหญิงเหรียญทองโอลิมปิกวัย 14 ปี กลับมาถึงบ้านและต้องพบกับกองทัพสื่อ ยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คุณพอจะนึกชื่อออก มาออกันเต็มหน้าบ้าน เพื่อติดตามชีวิตเธอแบบวินาทีต่อวินาทีเลยทีเดียว 

การ “เกินเบอร์” นี้เกิดขึ้นจากอะไร และจากชีวิตที่ไม่เคยโดนเหลียวแล กลับกลายเป็นคนที่แค่โบกมือให้กล้องก็เป็นข่าว … นี่คือเรื่องราวที่สะท้อนความเสพติดโซเชียลของชาวจีนที่เราจะใช้ไขคำตอบข้อนี้

 

ติดตามได้ที่ Main Stand

ใครคือ เฉิน หงฉาน?

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น เฉิน หงฉาน คือนักกีฬากระโดดน้ำหญิงของทีมชาติจีนที่ลงแข่งขันในรายการ โอลิมปิก โตเกียว 2020 ด้วยวัยเพียง 14 ปี เธอสามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกระโดดน้ำประเภทแพลตฟอร์ม 10 เมตรได้สำเร็จ 

1หลังจากที่เธอขึ้นรับเหรียญทอง เรื่องราวของเธอก็กลายเป็นไวรัลขึ้นมาทันที ไม่ใช่ชาวจีนเท่านั้นที่ชื่นชมในความสำเร็จของเธอ โลกทั้งโลกก็ยอมรับในความเก่งกาจของเด็กวัย 14 ปี คนนี้ ผู้สามารถทำคะแนน 10/10/10 ได้ถึง 2 รอบจากการกระโดด 5 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องยากอย่างที่สุดสำหรับการแข่งขันกระโดดน้ำ

 

อย่างไรก็ตามสตอรี่ของ หงฉาน มีเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องการแข่งขันที่เข้มข้น และนั่นเป็นการอธิบายว่าทำไมนักกีฬาจีนที่ได้เหรียญทองรวมกัน 38 เหรียญ ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ถึงมีเพียงแค่ หงฉาน ที่ถูกพูดถึงมากเป็นพิเศษ และยังขยายอิทธิพลกว้างจนเลยขอบเขตของวงการกีฬาไปเยอะเลยทีเดียว 

เรื่องราวก็คือ ก่อนนี่จะมาถึงเหรียญทองนั้น หงฉาน เสียสละทุกสิ่งที่เธอมีเพื่อแลกกับความสำเร็จครั้งนี้ บ้านของเธอยากจน เธอไม่เคยมีชีวิตวัยเด็กที่ได้เที่ยวเล่นกับคนอื่น ๆ เพราะต้องทำงานช่วยที่บ้านหาเงิน และที่สำคัญคือ สตอรี่ที่สะเทือนใจคนฟังที่สุด เพราะ 1 ปีก่อนที่เธอจะมาแข่งขันในโอลิมปิก แม่ของเธอประสบอุบัติเหตุจนต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียงและรับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งทำให้ หงฉาน ต้องการจะเป็นผู้ชนะเป็นอย่างมาก เพราะเธอเชื่อว่าชัยชนะสามารถพลิกฟื้นชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของเธอได้ 

2โดยปกติแล้ว ทีมชาติจีนจะไม่ได้มีตัวเลขเงินอัดฉีดนักกีฬาตายตัวสำหรับกรณีที่ได้เหรียญในการแข่งขันโอลิมปิก ทว่าตามข้อมูลที่ค้นพบจากโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2008 คือ 350,000 หยวน หรือราว 1.75 ล้านบาท ต่อคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผู้ที่ได้เหรียญในโอลิมปิกที่เอเธนส์เมื่อปี 2004 ที่ได้รับเพียง 200,000 หยวนหรือราว 1 ล้านบาท เท่านั้น

หากเอาจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาคูณด้วยจำนวนปี ในโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่จัดในปี 2021 (13 ปีหลังจากโอลิมปิกที่ปักกิ่ง เพราะเจอพิษ COVID-19 เข้าไป) คาดว่าเงินอัดฉีดสำหรับเหรียญทองอาจจะมากถึง 500,000 หยวน หรือ 2.5 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

สำหรับ หงฉาน ที่ต้องเสียสละทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินรางวัลก้อนนี้มา สาเหตุที่เธอร้องไห้ในวันที่ทำความฝันสำเร็จ ก็เพราะด้วยเงินจำนวนนี้อย่างน้อย ๆ แม่ของเธอจะต้องได้รับการรักษาที่ดีขึ้น ทว่าเมื่อเธอกลับมาถึงบ้านเกิด สิ่งที่เธอไม่เคยคาดฝันก็เกิดขึ้น เพราะอยู่ดี ๆ ตัวเลขที่น่าจะได้จาก 500,000 หยวน ถูกเพิ่มขึ้นเป็นไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า ไม่ใช่เพราะรัฐบาลอัดฉีดเพิ่ม แต่เป็นเพราะใครที่ไหนก็ไม่รู้มาออกันเต็มหน้าบ้านเธอและบอกว่า “มีรางวัลมาให้” … ทำไมถึงเป็นแบบนั้นได้

ยูทูบเบอร์ อาชีพเปลี่ยนวัยรุ่นจีน 

จริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรมากที่เมื่อได้เหรียญทองกลับมาถึงบ้านเกิดแล้ว ชีวิตจะพลิกจากร้ายกลายเป็นดีได้ทันที ประเทศไหนก็เป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ กับนักกีฬาไทย ที่เมื่อได้เหรียญรางวัลกลับมา พวกเขาจะได้งานเดินสายโชว์ตัว ได้รับเงินสนับสนุนจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จากรัฐบาล อาจจะเป็นจากบริษัท ห้างร้าน หรือคนที่มีชื่อเสียงก็ได้ทั้งนั้น 

ทว่าในส่วนของ หงฉาน เรื่องราวทั้งหมดมันเกินเบอร์ไปเยอะมาก… 

3

 

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีน Weibo เริ่มรายงานถึงเรื่องราวชีวิตของเธอตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ว่าเธอลำบากขนาดไหน แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือการบอกที่อยู่ของเธอ ละเอียดไปถึงเลขที่บ้าน เพียงเพื่อความหวังดีสำหรับคนที่อยากจะสนับสนุนเด็กหญิงยอดกตัญญูรายนี้ ทว่านั่นเองก็เป็นจุดเปลี่ยนให้หมู่บ้านที่ชื่อ Maihe ในมณฑลกวางตุ้งไม่เคยสงบสุขอีกเลย

ที่นั่นคือชนบท และเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีอัตราความหนาแน่นของครัวเรือนไม่เยอะ ทว่าเมื่อการนำเสนอเรื่องราวของ หงฉาน ออกสู่สื่อ หมู่บ้านแห่งนี้ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปโดยปริยาย และประเด็นหลักคือพวกเขาไม่ได้แค่มาเที่ยวเพียงอย่างเดียว พวกเขามาเพื่อเอา “คอนเทนต์” กลับไปด้วย 

บุคคลประเภทไหนกันล่ะที่ต้องการคอนเทนต์ ? มันชัดเจนว่าคนที่มาที่หมู่บ้าน Maihe ส่วนใหญ่ เป็นถึงระดับอินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือแม้กระทั่ง ยูทูบเบอร์ (ขอใช้คำนี้แทนที่ผู้นำเสนอคอนเทนต์ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์) ซึ่งถือเป็นฝันของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก และเช่นเดียวกัน ที่ประเทศจีนก็เป็นอย่างนั้น 

4เรื่องนี้เราไม่ได้กล่าวขึ้นมาเอง เพราะ CNBC ระบุว่า ในกลุ่มเด็ก ๆ และวัยรุ่นชาวจีน อาชีพยูทูบเบอร์ ก้าวขึ้นมาติดท็อป 5 ของอาชีพในฝัน ทั้ง ๆ ที่ประเทศจีน ไม่ได้เป็นประเทศที่เปิดเสรีทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะคอนเทนต์จากต่างประเทศอย่าง เฟซบุ๊ก ยูทูบ ชาวจีนไม่มีสิทธิ์เข้าถึงแบบปกติได้ด้วยซ้ำ … เพราะถูกทางการปิดกั้น

 

ตัวเลขของอาชีพยูทูบเบอร์กำลังโตขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศจีน เพราะประชาชนพบวิธีเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้เองด้วยการใช้ VPN (Virtual Private Network หรือ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน) สิ่งที่ยืนยันได้คือแชนแนลยูทูบที่มีชื่อว่า 李子柒 Liziqi ที่กลายเป็นยูทูบเบอร์จากประเทศจีนคนแรกที่ทำสถิติมีผู้ติดตามแตะหลัก 16 ล้านคน ในเวลานี้ 

5อะไรที่ทำให้ ยูทูบเบอร์ กลายเป็นที่นิยมแม้จะโดนปิดกั้นการเข้าถึงในระดับหนึ่ง ? … เหตุผลนี้สามารถตอบได้ว่า มันเป็นอาชีพที่ส่งคนรุ่นใหม่ไปถึงฝั่งฝันได้ไวกว่า อาชีพยอดนิยมระดับท็อป 5 อื่น ๆ ของวัยรุ่นจีน อย่าง นักบินอาวกาศ, ครู, นักดนตรี หรือแม้กระทั่งนักกีฬาระดับโลก เพราะหากเลือกทางเดินสายอื่น กว่าจะไปถึงจุดที่ “ดัง” และได้รับ “ค่าตอบแทนที่มากพอ” นั้น ต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก

คงต้องขอยกตัวอย่างแชนแนล 李子柒 Liziqi อีกสักครั้ง ตัวของ หลี่ จื่อ ชวี่ เจ้าของแชนแนล ก่อนจะมาเป็นยูทูบเบอร์ที่สร้างเนื้อหาเกี่ยวชีวิตในชนบทนั้น เธอมี 8 ปีที่ยากลำบาก จากการทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ และเป็นดีเจในผับหรือร้านอาหาร เธอเปิดเผยกับ South China Morning Post ว่า เธอมีรายได้ต่อเดือนแค่ราว ๆ 350 หยวน (ราว 2 พันบาท) ต่อเดือนเท่านั้น นั่นน้อยเกินไปสำหรับการส่งเงินให้กับคุณยายที่กำลังป่วย เธอจึงลาออกและเริ่มสนใจงานเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เริ่มจากการขายเสื้อผ้าออนไลน์ และเจออาชีพปัจจุบันอย่างการเป็น ยูทูบเบอร์  

หลี่ ยังบอกอีกว่า การเป็นยูทูบเบอร์หรือผู้นำเสนอคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มนั้นไม่ได้ใช้เงินทุนมากเหมือนกับการขายของออนไลน์แบบที่เธอเคยทำ เริ่มแรกเธอใช้กล้องโทรศัพท์มือถือและโปรแกรมตัดต่อที่เปิดให้ใช้ฟรี มาทำคอนเทนต์จนคนเริ่มติดตามเยอะขึ้นเรื่อย ๆ และสุดท้ายเธอก็กลายเป็นเบอร์ 1 ของประเทศจีน ในเวลานี้ 

6เรื่องราวของ หลี่ จื่อ ชวี่ สะท้อนให้เห็นว่า ยูทูบเบอร์ คือทางรอดและสายอาชีพใหม่ที่ชาวจีนหลาย ๆ คนเริ่มตื่นตัว และอย่างที่รู้กันว่า วงการนี้ “มาก่อนได้ก่อน” ยิ่งถ้ามีไอเดียในการนำเสนอดี ๆ แล้ว โอกาสที่พวกเขาจะติดตลาดและทำเงินจากคอนเทนต์ก็มีมากขึ้นเท่านั้น

เพราะยูทูบคือแพลตฟอร์มที่สามารถทำเงินจากยอดวิวได้โดยตรง โดยยูทูบจะเป็นคนจ่ายเงินให้เจ้าของแชนแนล ดังนั้นสิ่งที่ยูทูบเบอร์ชาวจีนจะได้คือ การไม่ต้องเจอปัญหาเกี่ยวกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีนายจ้างขูดรีด และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมความฝันของวัยรุ่นจีนจึงเริ่มเปลี่ยนไป … ชีวิตอิสระ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และผลตอบแทนที่คุ้มเหนื่อย 

วกกลับมาที่หมู่บ้านของนักกระโดดน้ำชาวจีนวัย 14 ปี เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2020 อย่าง เฉิน หงฉาน อีกสักครั้ง ภาพผู้คนที่เนืองแน่นเต็มแทบจะทุกพื้นที่ พร้อมกล้องถ่ายรูปและกล้องถ่ายวิดีโอนานาชนิด มาพยายามหาคอนเทนต์ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ทั้ง อาทิ 25 จุดเช็คอินบ้านเกิดของ หงฉาน, ตามรอยโรงเรียนที่สอนเธอกระโดดน้ำครั้งแรก, สัมภาษณ์พ่อของเธอ หรือแม้กระทั่งตามไปหาแม่เธอที่กำลังป่วยอยู่ในโรงพยาบาล … นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่คุณน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า ทำไมพวกเขาจึงอยากได้คอนเทนต์จาก หงฉาน นัก 

นี่คือนักกีฬาที่แม้แต่โลกภายนอกยังซูฮก การทำคอนเทนต์คือการเล่นกับกระแส หากพวกเขาได้ภาพของตัวเองยืนคู่กับ หงฉาน หรือได้ออกสื่อร่วมกัน มันก็เป็นโอกาสดีมาก ๆ ที่ช่องยูทูบของพวกเขาจะเจอจุดเปลี่ยนและสามารถเพิ่มผู้ติดตามได้ในเวลาชั่วข้ามคืน 

ลำพังแค่สื่อระดับประเทศ องค์กรต่าง ๆ ห้างร้านที่ต้องการกระแสก็เข้ามาเยอะอยู่แล้ว ยุคสมัยนี้ยังเพิ่มยูทูบเบอร์ที่ต้องแข่งกันทำคอนเทนต์จากทั่วประเทศเข้าไปอีก คงไม่ต้องสืบว่าทำไมหน้าบ้านของ หงฉาน จึงวุ่นวายขนาดนี้

เสพติดความโรแมนติก

ไม่ดัง ไม่เป็นข่าว ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่ว่าที่ไหนก็เหมือนกันหมดบนโลกนี้ แต่สิ่งที่สะท้อนต่อเหตุการณ์เกาะกระแสทุกฝีก้าวของ หงฉาน คือ เมื่ออยู่ในประเทศที่ยิ่งห้ามและมีขอบเขตในการนำเสนอของสื่อมากเท่าไหร่ ประชาชนก็มีทางเลือกในการเสพสื่อน้อยลงเท่านั้น และมันเลี่ยงไม่ได้เลยที่หากเกิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา กระแสของมันจะถูกจุดติดในทันที นี่คือการสร้างความโรแมนติก (Romanticize) หรือการหาข้อดีในสถานการณ์ที่ไม่ควรยกมาเป็นเรื่องน่ายินดี 

เราไม่ได้หมายความว่าเหรียญทองของ หงฉาน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะนั่นไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ อยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นล่ะ ? มีใครมาสนใจเธอบ้าง…

8เธอตั้งหน้าตั้งตาทำงานหนักตั้งแต่ 9 ขวบ นอนหลับวันละไม่กี่ชั่วโมง ฝึกกระโดดน้ำจนพลาดความสนุกในวัยเด็กไปจนหมดสิ้น ความฝันของเธอหลังจากคว้าเหรียญทองคืออะไร ? หลังจากขึ้นโพเดียม เธอบอกว่าชีวิตนี้ขอให้ได้ไปเที่ยวสวนสนุกสักครั้ง … ทั้งที่มันเป็นเรื่องเล็กมาก ๆ สำหรับเด็ก ๆ ที่จะได้เที่ยวเล่น แต่ หงฉาน ก็ไม่เคยได้รับโอกาสนั้น 

ไหนจะเรื่องแม่ของเธอที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลทุกเดือน และเป็นสาเหตุให้เธอต้องทำงานหนัก คำถามต่อมาคือ หากมีการดูแลจากรัฐ มีสวัสดิการที่ทั่วถึง แม่ของเธอคงจะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพตั้งแต่แรก ไม่ใช่ต้องมารอให้ลูกสาวได้เหรียญทองโอลิมปิกก่อน เธอถึงได้เข้ารับการรักษาที่มีคุณภาพอย่างเต็มที่แบบที่ไม่เคยได้รับมาก่อน 

มองเผิน ๆ เรื่องราวการคว้าเหรียญทองผ่านแบ็กกราวด์ชีวิตที่ยากลำบากคือสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ในทางกลับกัน นี่คือสิ่งพื้นฐานที่ครอบครัวของ หงฉาน ควรจะได้รับมาตั้งแต่แรก เธอไม่ได้ขออะไรมากมาย แค่ต้องการการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพให้กับแม่ของเธอ ข้อเดียวเท่านั้นที่จะส่งผลกระทบต่อไปยังคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอื่น ๆ หากแม่ของเธอได้รับการสนับสนุนเรื่องค่ารักษา เธอก็จะไม่ต้องมาทำงานหนักตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เหมือนที่เป็นอยู่ ซึ่งหากไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพของแม่ให้เธอต้องกังวล ดีไม่ดี หงฉาน อาจจะได้เป็นนักกระโดดน้ำที่ดีกว่านี้ก็ได้ ใครจะไปรู้ 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือเรื่องราวความลำบากก่อนที่จะประสบความสำเร็จ กลายเป็นสตอรี่สุดซึ้งเหมือนกับในหนังดี ๆ สักเรื่อง เด็กหญิงที่ทำงานหนัก แม่ที่กำลังป่วย ช่วยพ่อดูแลน้อง ๆ และพิชิตเหรียญทองโอลิมปิกด้วยคะแนนที่ไม่เคยมีใครทำได้ … นี่คือสูตรสำเร็จของของพล็อตหนังดราม่าสักเรื่องอย่างแท้จริง 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การเสพติดความโรแมนติกเกิดขึ้นในสื่อโซเชียลของประเทศจีน ก่อนหน้านี้ไม่นานนักก็เคยมีเรื่องราวของ เฉิง หยุนฟุ ชาวนาหนุ่มวัย 29 ปี ที่หันมาทำบะหมี่ราคาถูกขายในตลาดเฟยเซียน มณฑลชานตง ทางภาคตะวันออกของจีน เขาขายบะหมี่ในราคาแค่ 3 หยวน (ราว 14 บาท) ด้วยเหตุผลที่ว่า คนในเมืองนี้มีรายได้น้อย เขาจึงตัดสินใจขายในราคานี้มาตลอด และไม่เคยขึ้นราคาเลยตลอดระยะเวลา 15 ปี ซึ่งแน่นอนว่าตัวของเขาก็ยังหาเช้ากินค่ำจนทุกวันนี้ 

เรื่องราวของชายหนุ่มผู้เสียสละเพื่อคนในเมืองกับบะหมี่ชามละ 14 บาท กลายเป็นไวรัลระดับประเทศ มียอดวิวผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากกว่า 1,000 ล้านวิว … ยูทูบเบอร์จากทั่วประเทศเดินทางไปที่นั่นสร้างความโกลาหลไปยกใหญ่ เพียงเพราะที่นี่มีคอนเทนต์ที่คนในประเทศอยากติดตาม ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วมันจะดีกว่าไหมหากสามารถพัฒนาชีวิตคนในเมืองนี้ให้ดีขึ้นได้ อย่างน้อยก็เพิ่มรายได้ขั้นต่ำสักหน่อย เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสกินอย่างอื่นนอกจากบะหมี่ของ หยุนฟุ บ้าง 

ยิ่งจน ยิ่งลำบาก ยิ่งปากกัดตีนถีบ ยิ่งเป็นสตอรี่ที่ดี คนดูยิ่งชอบ… 

9การผงาดเอาชนะปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ทั้ง หงฉาน นักกระโดดน้ำวัย 14 ปี และ หยุนฟุ ชาวนาผู้ทำอาชีพเสริมด้วยการขายบะหมี่ กลายเป็นฮีโร่ขึ้นมา โดยที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครเหลียวแลพวกเขาเลย โดยเฉพาะ หงฉาน นั้น การชิงชัยเหรียญทองโอลิมปิกของเธอมีแรงกระตุ้นสำคัญที่สุดคือการพลิกชีวิต และหลุดจากความยากจนในแบบที่ใครก็ช่วยเธอไม่ได้นอกจากตัวของเธอเอง 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการเสพติดความโรแมนติกที่มากจนเกินไปจนมองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้าง … เชื่อเหลือเกินว่าอีกไม่นานนัก หน้าบ้านของ หงฉาน ก็จะค่อย ๆ กลับมาสงบอีกครั้งหลังจากที่กระแสเหรียญทองของเธอซาลง เม่ือถึงเวลานั้นเธอจะกลับมาเป็นเด็กสาวที่ต้องสู้เพื่อครอบครัวอีกครั้ง

และมีแต่เธอเท่านั้นที่รู้ว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องลำบาก ใช้ความพยายาม และเสียสละขนาดไหน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ