“จาตุรนต์” ร่ายยาวถึง อ.สมชาย หลังโดนเขียนจดหมายสับแรง “สับปลับ” โหวตหนุน พท.จูบปากพรรคสืบทอดอำนาจ
วันที่ 24 สิงหาคม 2566 นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตอบจดหมายของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า
สวัสดีครับ อาจารย์สมชาย
ผมจำอาจารย์ได้ดีครับ ผมติดตามบทบาทของอาจารย์ในเรื่องประชาธิปไตยและความยุติธรรมด้วยความชื่นชมมาตลอดครับ
ขอบคุณที่อาจารย์แสดงความชื่นชมบทบาททางการเมืองของผมในอดีต ส่วนที่หวังว่าผมจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการผลักดันพรรคการเมืองที่ผมสังกัดนั้น นานมาแล้วที่ผมอาจจะเคยมีบทบาทมากๆ แต่ช่วงนี้ผมไม่ได้มีบทบาทอย่างสำคัญอะไรเลยครับ
ผมยินดีรับฟังคำวิจารณ์ของอาจารย์เสมอครับ แต่ที่อาจารย์ใช้คำว่า “สับปลับ” ผมว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงแน่ๆครับ ในการปราศรัยหาเสียงที่ผ่านมา ผมพูดเรื่องการต่อต้านคัดค้านการสืบทอดอำนาจและทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและได้เน้นย้ำคำประกาศของแกนนำพรรคว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับสองพรรค ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ
หลังการเลือกตั้ง ผมแสดงความเห็นสนับสนุนการตั้งรัฐบาลโดย 8 พรรค เมื่อไม่สำเร็จ ผมก็แสดงความเห็นทั้งในที่ประชุมแกนนำของพรรคและพูดผ่านสื่อมวลชนว่าไม่เห็นด้วยกับการข้ามขั้วและทักท้วงการจับมือกับสองพรรค ด้วยความหวังว่าการจับมือกันดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น
ผลปรากฏว่า ผมเป็นเสียงข้างน้อย พรรคมีมติและดำเนินการไปดังที่เกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นจนถึงวันนี้ผมก็ยังยืนยันความเห็นต่อการจัดตั้งรัฐบาลตามที่ผมพูดไว้ทุกอย่าง ไม่เปลี่ยนแปลง
มาถึงการโหวตนายกฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้อาจารย์ผิดหวัง ขอเรียนว่าการโหวตนี้เป็นการโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้คุณเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกฯ ตลอดการหาเสียงผมก็ร่วมหาเสียงเพื่อสนับสนุนคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ผมยังสนับสนุนเหมือนเดิมและก็เป็นมติพรรค ผมจึงโหวตเห็นชอบ
ส่วนที่อาจารย์เห็นว่าการโหวต “เห็นชอบ” เป็นการสนับสนุนรัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น ก็มีส่วนจริง แต่ถึงแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับองค์ประกอบของรัฐบาลผสมที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น ผมก็ต้องปฏิบัติตามมติพรรคอยู่ดี
การปฏิบัติตามมติพรรคเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งในระบบรัฐสภา หากจะไม่ปฏิบัติตามมติพรรคในเรื่องใหญ่มากๆก็ต้องพร้อมที่จะลาออกจากพรรคการเมืองนั้นไป แต่ผมไม่คิดจะลาออก
ในช่วง 20 กว่าปีมานี้ ผมผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมาทั้งในฐานะที่เป็นเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยในพรรค แต่ก็ได้ร่วมกับพี่น้องในพรรคฟันฝ่าวิกฤตมาด้วยกันหลายครั้งหลายหน เมื่อพรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายและยากลำบาก ผมก็ยังมีความตั้งใจที่จะมีส่วนช่วยในการฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้
ผมไม่มีตำแหน่งหน้าที่อะไรทั้งในรัฐบาลและในพรรค ในฐานะสส.ของพรรคก็ตั้งใจว่าจะทำหน้าที่นิติบัญญัติ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และจะร่วมกับสส.ของพรรคผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ตามนโยบายของพรรคที่ได้เคยประกาศไว้
อาจารย์ครับ
ผมเล่าให้อาจารย์ฟังไปมากกว่าประเด็นที่อาจารย์พูดถึงผม ก็เพราะเห็นว่าอาจารย์เป็นผู้ที่ผมเคารพนับถือ โดยสรุปก็เพื่อจะบอกว่า ที่ผมพูดไปตั้งแต่ตอนหาเสียงมาจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคัดค้านการสืบทอดอำนาจ การตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้ว การไม่เป็นรัฐมนตรี การไม่ลาออกจากพรรคและสิ่งที่ตั้งใจจะทำต่อไป ไม่มีเรื่องไหนที่ผมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาครับ
ขอบคุณที่อาจารย์วิจารณ์ผม แม้แรงไปบ้างก็ไม่เสียใจ ผมยังนับถืออาจารย์เหมือนเดิมจึงชี้แจงมา มีอะไรจะแนะนำผมอีกก็ยินดีรับฟังเสมอครับ
จาตุรนต์ คนเดิมครับ
24 สิงหาคม 2566