คำผกา-อั๋น ชี้ดราม่าเลิกพูด “อย่าคิดมาก” ควรประเมินคนต่อคน ไม่ใช่ห้ามพูด เลิกสร้างกฎเกณฑ์เหมารวมมาใช้กับทุกคนทุกสถานการณ์
เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 15 พ.ย. 2565 ข่าวสดออนไลน์ จัดรายการ “ข่าวจบ คนไม่จบ” ดำเนินรายการโดย อั๋น ภูวนาท คุนผลิน และแขก ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา ในหัวข้อ “อย่าคิดมาก! โซเชียลถกวุ่นดราม่าคำต้องห้าม รณรงค์เลิกพูด”
อั๋น กล่าวว่า วู้ดดี้ โพสต์รณรงค์ให้คนเลิกพูดว่า “อย่าคิดมาก” เพราะเป็นคำที่มีความละเอียดอ่อนกับอาการบางอย่างของคนที่มีความแตกต่างกัน เรื่องนี้พูดยากเพราะหลายเรื่องไม่เจอกับตัวเองก็ไม่รู้ เหมือนบางครั้งที่เราพูดว่าเรื่องแค่นี้จะเป็นอะไร ทำไมต้องเศร้า สำหรับเราอาจจะรู้สึกแบบนั้น เหมือนเราดูหนังบางเรื่อง บางคนร้องไห้เป็นเผาเต่า แล้วเรามองว่ามันซึ้งตรงไหน ไม่ซึ้งเลย หรือมุกบางมุกหัวเราะจนน้ำตาไหล แล้วเราก็รู้สึกว่าไม่เห็นขำเลย ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล
อั๋น กล่าวต่อว่า เมื่อโพสต์นี้เผยแพร่ออกไป บางส่วนก็เห็นด้วย บางส่วนก็คิดว่าไร้สาระ บางคนมองว่าเรื่องมาก เขาแค่พูดประโยคนึงตามมารยาท ถ้าไม่พอใจก็ไม่ต้องมาเล่าให้ฟัง ซึ่งบางคนเป็นคำติดปากว่าอย่าคิดมากนะ หรืออีกคำที่คนไทยติดปากคือ สู้ๆ นะ หลายคนเคยบอกว่าอย่าพูดคำนี้ คนฟังก็เกิดคำถามว่า ทำไมพูดคำนี้ ที่พูดแบบนี้เพราะคิดว่าเราไม่สู้เหรอ ซึ่งบางคนไม่ได้มีเจตนาแบบนั้นเลย แค่อยากให้กำลังใจเฉยๆ บางครั้งตนไม่รู้จะพูดว่าอะไรด้วยความกลัว ตนเคยเจอกับคนที่เป็นซึมเศร้า ไบโพลาร์ ในภาวะที่เขาโอเค เราก็ถามว่า มีคำไหนที่ไม่ควรพูด เพราะเป็นเรื่องยากมาก
คำ ผกา กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าไม่ควรไปเซ็ตว่า คำนี้ควรพูด คำนี้ไม่ควรพูด เพราะบริบทของคนไม่เหมือนกัน ภูมิหลังไม่เหมือนกัน การเลี้ยงดูของคนมาไม่เหมือนกัน การผ่านอุปสรรคในชีวิตไม่เหมือนกัน จุดอ้างอิงของการได้รับความสะใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สมมติว่าตนเผชิญปัญหาความทุกข์มายาวนานมาก อยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวจากผู้คนมายาวนานมาก เผอิญไปรู้จักกับคนนึง แล้วเขาบอกว่าอย่าคิดมากนะ สู้ๆ นะ มันอาจจะยิ่งใหญ่มากสำหรับตน เพราะมีใครบางคนที่อยากให้กำลังใจเรา หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยได้ยินคำพูดแบบนี้จากมนุษย์คนไหนเลย
คำ ผกา กล่าวอีกว่า อีกกรณีคือคนที่เล่าให้อะไรให้คนอื่นฟังแล้ว ทุกคนก็ฟังจนเบื่อ แล้วทุกคนก็พูดพอให้จบๆ หน้าที่ของตัวเองว่า เออๆ สู้ๆ นะ อย่าคิดมาก แล้วก็รีบเดินหนี เขาอาจจะไปเจอคนพูดแบบนี้ 99 คน แล้วไปขาดผึงคนที่ 100 ว่า พวกคุณสักแต่พูดให้จบๆ ไป ไม่ได้ใส่ใจมาฟังสิ่งที่เราพูดจริงๆ เพราะฉะนั้นคำว่าสู้ๆ นะ อย่าคิดมากนะ มันมีค่าต่างกันสำหรับคนสองคนที่มีภูมิหลังและมีสภาวะแวดล้อมในชีวิตต่างกัน
คำ ผกา กล่าวอีกว่า ตนอยากรณรงค์ให้เลิกสร้างกฎเกณฑ์แบบเหมารวมว่า กฎเกณฑ์ 1 ข้อใช้ได้กับทุกคน หรือกฎเกณฑ์ 1 อย่างใช้ได้กับทุกสถานการณ์ เราควรจะรับฟังและให้คำแนะนำเป็นเคสต่อเคส ถ้าเรามีพลังงานพอ หรือถ้ามีใครบางคนมาปรึกษาปัญหาชีวิตกับเรา แล้วเรารู้สึกว่าเราก็เอาตัวเองไม่รอดเหมือนกัน เราเหนื่อยมาก ก็แค่ตอบเขาไปตรงๆ ว่า เราเองก็ไม่ไหวเหมือนกัน เราต่างคนต่างไปหาทางออกของชีวิตตามวิถีทางของตัวเองเถอะ ขอโทษจริงๆ เราไม่มีพลังหรือแรงเหลือพอที่จะฟังความทุกข์ของเธอ
คำ ผกา กล่าวต่อว่า ถ้ามีใครเป็นโรคซึมเศร้าหนักๆ ตนก็จะพูดว่า กินยานะ กินยาไหม ไปหาหมอ เพราะบางทีจะร้อยคำพูดหรือหมื่นคำพูดดีแค่ไหนก็ไม่ช่วย เพราะเรื่องนี้ต้องถึงมือหมอแล้ว แต่วถ้าใครเริ่มวน ตนก็จะพูดว่า เราคิดว่าเธอวน เธอกำลังเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางจักรวาล ปัญหาของเธอก็เลยดูใหญ่มากตลอดเวลา เพราะเธอไม่เคยสังเกตปัญหาของคนอื่นและเพื่อนร่วมโลกเลย
คำ ผกา กล่าวอีกว่า ตนเป็นคนพูดตรงๆ กับคนที่มาปรึกษา แล้วถ้าใครมาปรึกษาแบบไร้สาระ ตนก็จะบอกว่าไร้สาระ ว่างมากเหรอ ถึงมีเวลามาทุกข์กับเรื่องแค่นี้ ตนจะไม่พูดว่าสู้ๆ นะ ถ้าประเมินแล้วโลกหมุนรอบตัวเองมาก ปัญหาแค่น้อยนิด แต่ทำซะใหญ่มาก มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตที่จะทุกข์เยอะมาก ควรไปปรึกษาคนอื่น ตนจะใช้วิธีประเมินคำแนะนำให้เหมาะกับแต่ละบุคคล
อั๋น กล่าวเสริมว่า ถ้ามันจะผิดสำหรับบางคน คำไหนก็ผิด ไม่ใช่ทุกคนที่เราคุยด้วยจะได้คุยกันแบบเห็นหน้า หรือเอื้อมมือไปบีบมือได้ หรืออีกด้านนึง เขาอาจจะรู้สึกว่ากำลังหวั่นไหว สภาพทุกอย่างแย่มาก แต่ไม่อยากจับมือกับเราก็ได้ เพราะไม่อยากล้างมือ หรือในภาวะโรคระบาดก็กลัวติดเชื้อ มันมีรายละเอียดที่ไม่มีที่สิ้นสุด
คำ ผกา กล่าวต่อว่า ระหว่างที่เราบอกเขาตรงๆว่า เขาเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ปัญหาถึงใหญ่ไปหมดขนาดนี้ สำหรับตนคิดว่าดีกว่าพูดว่าอย่าคิดมาก เพราะเป็นการพูดเหมือนตัดรำคาญ แต่การที่เราเตือนเขาว่า การที่เขาทุกข์กับเรื่องนี้โดยไม่จำเป็น อันนี้เราวิจารณ์เขาตรงๆ ในฐานะกัลยาณมิตรแล้ว ตนอาจจะพูดเหมือนแรง แต่สะท้อนความใส่ใจที่จะฟังเรื่องของเขาจริงๆ
คำ ผกา กล่าวอีกว่า คนฟังก็อย่ามัวแต่โทษคนอื่น ควรจะสะท้อนหรือทบทวนพฤติกรรมตัวเองด้วยเหมือนกัน แล้วบางคนที่ทุกข์มากก็เพราะโทษคนอื่นหมดเลย ยกเว้นตัวเอง คิดว่าปัญหาทุกอย่างเกิดจากคนอื่นหมดเลย
อั๋น กล่าวว่า ตนคิดว่าถ้าเราคุยกับคนป่วย จะไม่สามารถกำหนดรูปแบบการพูดได้เลย คำที่ใช้ได้วันนี้ พรุ่งนี้อาจใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมารณรงค์ไม่ได้ หรือจะทำให้เป็นมาตรฐานสำเร็จรูปใช้ได้เสมอ มันไม่มี บางทีต้องดูหน้างานด้วย ถ้าเราตระหนักว่าคนนี้ป่วย เราต้องมีความเข้าอกเข้าใจให้มากๆ แต่ใช่ว่าทุกครั้งทุกคนที่เราคุยกับเขา แล้วจะรู้ว่าเขาป่วย หรือไม่ใช่ทุกคนที่คุยกับเราจะรู้ว่าตัวเองป่วย แม้แต่เราอาจจะยังไม่รู้ว่าเรากำลังป่วย
แขก กล่าวต่อว่า คนที่พูดว่าสู้ๆ นะ หรืออย่าคิดมากนะ บางทีวันนั้นทั้งวันเขาอาจแทบประคองตัวเองไม่ไหวแล้วเหมือนกัน อาจจะไม่ได้ป่วย แต่เจอปัญหามามาก บางทีการที่เราบอกว่าห้ามพูดอันนั้นห้ามพูดอันนี้ คือโลกหมุนรอบตัวเองมาก คุณจะเฝ้าแต่เรียกร้องจากคนอื่นอย่างเดียวไม่ได้ หรือคุณจะเอาคนอื่นเป็นเหตุแห่งทุกข์ของตัวเองทั้งหมด มันอาจจะได้ แต่อย่าลืมว่าอันนั้นเป็นปัจจัยที่คุณควบคุมไม่ได้
“ถ้าอยากควบคุมสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้ มันยิ่งจะพาคุณไปสู่เหตุแห่งความทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด รู้สึกอยากให้โลกทั้งใบเป็นอย่างใจตัวเอง แล้วมีใครบังคับโลกทั้งใบให้เป็นไปอย่างที่เราอยากให้เป็นได้บ้าง ท้ายที่สุดมันนำไปสู่แคมเปญการห้ามพูดอันนั้นอันนี้ เรารู้สึกว่ามันคับแคบมาก คำแนะนำคือประเมินคนต่อคน แล้วอย่าลืมที่จะเซฟตัวเองด้วย” คำผกา ทิ้งท้าย
อั๋น กล่าวสรุปว่า ตนติดว่า วู้ดดี้เองคงเผชิญกับความละเอียดอ่อนหลายแง่มุม และเรื่องจิตของตัวเองมาไม่น้อยเหมือนกัน เพราะเขาเคยเป็นแพนิค ซึ่งเราอาจจะเห็นเขาดูเป็นคนมั่นใจในตัวเอง แต่เราไม่มีทางรู้จักหรือตัดสินใครที่เราเห็นแค่เปลือกนอกได้
อั๋น กล่าวต่อว่า สิ่งที่ดีและสิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่การไปตามด่าวู้ดดี้ว่าไม่ควรทำแบบนี้ แย่มาก ตนคิดว่าไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ดีที่สุดคือการที่วู้ดดี้ขยับตัวครั้งนี้ เปิดโอกาสให้เราได้คุยกัน เมื่อเราคุยกันอย่างน้อยที่สุด เราอาจจะใส่ใจกันมากขึ้น เราระวังกันมากขึ้น แล้วก่อนที่จะพูดอะไรออกไป เรามีตัวกรองในการสังเกตความรู้สึกของคนที่เราคุยด้วย