คำผกา ร่ายยาวมหากาพย์รถไฟฟ้า ชี้เป็นบทเรียน ไม่มีแผนแม่บทใหญ่ ทำให้อิรุงตุงนัง เผยทางแก้ อาจต้องนั่งคุยประนีประนอม จนทุกฝ่ายวินวิน เพื่อจบเรื่องนี้
วันที่ 28 มิ.ย.2565 ข่าวจบ คนไม่จบ! EP04 เจาะทะลุประเด็นร้อน จากมุมมอง “อั๋น ภูวนาทและ แขก คำผกา” ข่าวจบคนไม่จบจากมุมมอง อั๋น ภูวนาท และ แขกคำผกา กับประเด็นมหาดไทยหนุนใส่ ชุดลูกเสือ เนตรนารี ชัชชาติ ลั่นสั่งมาก็ทำ…แต่ส่งงบด้วย เคาะราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว 59 บาท ส.ส.ภูมิใจไทยโผล่ถาม ไหนว่า 30 ดราม่าข่าวแหกโค้ง พิธีกรลืมปิดไมค์ เมาธ์ ‘เป๊ก ผลิตโชค’โดยพิธีกรคืออั๋น-ภูวนาท คุนผลิน และคำผกา ลักขณา ปันวิชัย โดยประเด็นเคาะราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ทางคำผกาได้ร่ายยาวมหากาพย์เรื่องนี้ให้ฟังกัน
โดยเริ่มจาก จุดแรก ต้องเข้าใจว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ทางบีทีเอสเริ่มดำเนินการปี 2542 ซึ่งบีทีเอสลงทุนทุกอย่าง ที่มีสายสีลมกับสายสุขุมวิท และทำสัญญากับกทม. ฉบับแรก ทั้งหมด 30 ปี จะสิ้นสุดในปี 2572 โดยในระหว่างช่วงเวลาสัญญา 30 ปีนี้ ทางบีทีเอสจะบริหารครบระยะสัญญา จากนั้นก็จะยกให้กทม. เป็นสมบัติของกทม. นั่นคือระยะแรก
ระยะที่ 2 ซึ่งเราไม่เคยมีแผนแม่บท ขนส่งมวลชนมารองรับ เราก็มีส่วนต่อขยายที่ 1 กทม.รับผิดชอบงานโยธาธิการ สร้างเสา สร้างรางทั้งหมด ตอนนั้นม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้บีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายนี้ ช่วงสัญญา 2555-2585 โดยกทม.เป็นหนี้บีทีเอสในการเดินรถ ทั้งหมด 4 หมื่นล้าน เพราะยังไม่จ่ายสักบาทเลย เป็นหนี้จากการจ้างบีทีเอสเดินรถ
อ่านข่าว ‘ชัชชาติ’ แจง ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 59 บาท เป็นแผนระยะสั้น
ต่อมาระยะที่ 3 ส่วนต่อขยายที่ 2 ผู้สร้างระบบโยธาธิการทั้งหมด คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือรฟม. เพราะการก่อสร้างส่วนนี้มันเกินจากพื้นที่กรุงเทพ ไปยังจ.ปทุมธานีและจ.สมุทรปราการด้วย ทางครม.ได้มีมติให้กทม.รับผิดชอบ แต่กทม.ไม่ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ก็รับงานจากรฟม. เลยทำให้เป็นหนี้รฟม.อีก 6 หมื่นล้าน ได้โอนหนี้ให้กทม.รับผิดชอบ
“ทั้งหมดนี้ มันจึงรวมกันกลายเป็นหนี้ 1 แสนล้าน โดยเป็นหนี้ของบีทีเอสและหนี้ของรฟม.รวมกัน”
สำหรับเรื่องค่าโดยสารนั้น เรามีรถไฟฟ้ามหานคร หรือเอ็มอาร์ที ซึ่งมีรฟม.เป็นเจ้าภาพ และก็มีการว่าจ้างบริษัทเดินรถ และรถไฟสายสีอื่นๆ อีก ซึ่งหลายบริษัทเหล่านี้ เขาได้คิดค่าแรกเข้าในการโดยสาร ที่ 15 บาท เป็นค่าแรกเข้าตอนผู้โดยสารเปลี่ยนสถานี เปลี่ยนสายจากบริษัทหนึ่งไปยังการบริหารของบริษัทหนึ่ง ดังนั้นเวลาผู้โดยสารเปลี่ยน สถานีที่บริหารกันคนละบริษัท มันก็จะต้องเสีย 15 บาท แล้วเพิ่มระยะทางค่าโดยสารไป หากไม่มีค่าแรกเข้า การเดินทางรถไฟฟ้าไม่ได้แพงมากดังที่คิด
ส่วนการทำวิจัยเรื่องค่าโดยสารนั้น ได้มีการพิจารณาตัวเลขคนใช้บริการ ซึ่งปกติแล้ว ก็ไม่มีใครใช้บริการขึ้นรถไฟจากต้นสายไปสุดสายหมด โดยเฉลี่ยก็ใช้บริการกันแค่ 7-8 สถานีเท่านั้น ค่าเฉลี่ยก็จะประมาณ 31 บาทในคนส่วนใหญ่
ปัญหาที่มันอิรุงตุงนังนั้น เพราะเราไม่มีแผนแม่บทใหญ่ ในการสร้างส่วนต่อขยาย แต่เจ้าภาพเยอะ แล้วเถียงกันไม่จบว่าสัญญาไขว้กันไปมาว่าจะจบลงที่ใด ระหว่างนั้นก็มีคำสั่งคสช.ที่ 3/2562 ข้อ 6 ให้กระทรวงมหาดไทยไปศึกษา ซึ่งงงมาก เพราะเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องของกทม.กับก.คมนาคม แต่คนไปศึกษา ดันเป็นก.มหาดไทย ก็เกิดกรณีเรื่องการให้สัมปทานแลกหนี้สิน โดยแต่ละบริษัทมาทำสัญญาใหม่ จะมีการให้สัมปทานกับบีทีเอส ตั้งแต่ปี 2572-2602 แล้วเคาะค่าโดยสารออกมาที่ 65 บาท ถ้าผ่านครม. มันก็จะเกิดดราม่า เรียกกันว่าสัมปทานชั่วลูกชั่วหลาน
อย่างไรก็ดีตัวสัญญานี้ มันจะแลกหนี้ 4 หมื่นล้านที่กทม.เป็นหนี้อยู่กับบีทีเอส ตอนนั้นมีการวอล์กเอาท์จากครม. ทำให้เรื่องนี้ไม่ผ่านมติครม. เลยกลายเป็นเผือกร้อนอยู่ในมือของคนหลายคน
อ่านข่าว ติดเม็ดแรกผิดก็ผิดหมด! ศักดิสยาม ย้อนถาม หลัง ชัชชาติ ชงค่ารถสายสีเขียว59บ.
เรื่องการทำสัญญาสัมปทานแลกหนี้ ก็มีคนเสนออยากแก้ไขมากมาย ยกตัวอย่างพรรคเพื่อไทย เขาเสนอว่าจะไปดูสัญญาทั้งหมด เอาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาคุยกันใหม่ แล้วสางผลประโยชน์ เช่นเลิกค่าเก็บแรกเข้า 15 บาท ทำให้ค่าโดยสารถูกลง คนเดินรถอาจขาดทุน แต่ผู้โดยสารอาจจะเยอะเป็น 1 ล้านคนต่อวันก็เป็นได้
ทีนี้พอคนใช้บริการเยอะ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ มีคนมาเช่าที่ ขายของ เพราะคนมาเยอะ ก็จะมีรายได้ขึ้นมา เปรียบเหมือนเราลงทุนช่วงแรกขาดทุน แต่ช่วงหลังมีกำไรมากขึ้น ก็เอามาแบ่งกันระหว่างบริษัทต่างๆ จะได้เงินเยอะกว่านี้อีกมาก
พูดง่ายๆ ว่าเอาทุกภาคส่วนมาตกลงเรื่องผลประโยชน์ ว่าจะผ่อนชำระอย่างไร ดูระยะเวลาสัญญา อาจใช้เงินบริหารสินทรัพย์จากโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้า แล้วรัฐบาลได้ภาษีจากผู้ค้ารอบสถานี นั่นคือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเสนอ
ส่วนที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.คนปัจจุบัน บอกเรื่องค่าตั๋ว 59 บาทนั้น เขาไม่ได้บอกว่าจะเคาะที่ราคานี้ แต่มันมีฐานจาก ราคาเป็นกลางจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ซึ่งได้ทำวิจัยแล้วเอามาเป็นตัวตั้ง ทางชัชชาติน่าจะเสนอ แล้วดูว่าจะไปคุณกับใครได้ก่อน แต่ต้องเข้าใจว่า มันไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าฯ แต่เขาหาเสียงได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ สามารถไปคุยกับคนที่อยู่ในธุรกิจนี้ได้ ในฐานะลูกหนี้กับเจ้าหนี้ บทบาทลูกหนี้คือกทม.ก็เข้าไปเจรจาเรื่องนี้
อย่างไรก็ดีคนที่มีอำนาจทำสัญญาแลกหนี้ คือครม. ผู้ว่าฯ ก็ต้องนั่งสะสางสัญญาทั้งหมด ซึ่งยังเป็นสัญญาที่ไม่เคยมีใครเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรเลย หากเปิดสัญญานี้แล้วเอามาอธิบายให้ประชาชนฟัง ว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้น และเรามีตัวเลือกอะไรบ้าง เขียนเป็นข้อเสนอให้ครม.พิจารณา อย่างน้อยประชาชนก็จะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ว่าใครเป็นคู่ค้าสัญญาอะไรกันบ้าง ดูว่าตรงไหนประนีประนอมกันได้ หรือเกิดสถานการณ์วินวินด้วยกันทั้งคู่
อั๋นได้ถามว่า ข้อเสนอใหม่นี้ หากเม็ดเงินอยู่ตรงหน้า หากมาตกลงกันใหม่ ก็ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ แล้วภาคเอกชนอาจจะเห็นมุ่งเน้นกำไรสูงสุด แตกต่างจากภาครัฐที่เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เราจะมีเอกชนที่ยอมเสียสละผลประโยชน์ในเรื่องนี้ไหม
คำผกาเผยว่า หลักการเจรจา คืออย่าไปยุ่งกับสัญญาฉบับแรก เพราะเขาแบกรับความเสี่ยงมามากพอแล้ว ให้ไปดูส่วนต่อขยายลำดับถัดมาแทน และรับประกันกับเอกชนว่าไม่ขาดทุน ได้กำไรกันยาวๆ ให้ร่วมมือกันจะได้วินวินกันทั้งสองฝ่าย
สำหรับเรื่องมหากาพย์นี้ ถือเป็นบทเรียนว่า เราทำอะไรแบบขายผ้าเอาหน้ารอด นึกจะทำรถไฟฟ้าก็ทำแบบไม่มีแผนแม่บท ซึ่งเราก็ต้องคิดระบบขนส่งมวลชนโยงกัน ถึงวันนี้ตั๋วกลาง บัตรแมงมุม รวมทุกสถานีทุกสายด้วยบัตรเดียว ยังทำไม่ได้เลย ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของเอกชน เพราะถ้ารัฐมีแผนแม่บทใหญ่ มันก็เหมือนระบายสีจุดเล็กๆ เราจะรู้ว่าภาพใหญ่คืออะไร มีรอยประครบถ้วน ทุกอย่างรองรับไว้หมด
“เราก็ไม่รู้ว่าการผลักดันสถานี มันไปสอดคล้องกับผังเมืองอย่างไร ซึ่งเขาต้องมองไปยังอนาคตด้วยในอีก 20-30 ปี ซึ่งเราไม่มี ตรงนี้มันเป็นปัญหาของผังเมืองชัดเจน ถนนบางเส้นหมู่บ้านขึ้นเต็ม แต่ไม่มีระบบขนส่งมวลชนก็มีให้เห็นเป็นต้น”
ส่วนกรณีของนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทยที่ออกมาพูดว่าราคาค่าโดยสาร สมัยนายชัชชาติหาเสียง ควรจะอยู่ที่ 25-30 บาทนั้น เจ้าตัวรู้ดีที่สุด เพราะอยู่ในพรรคที่คุมกระทรวงคมนาคม และรู้ดีว่ากทม.ทำได้แค่เสนอ ให้ครม.รับทราบแล้วมีมติ การทำแบบนี้ ไม่ควรเกทับ ไม่น่ารัก อ่านข่าว พูดแล้วต้องทำ! ส.ส.ภูมิใจไทย ทวงสัญญา ชัชชาติ ลดค่าตั๋วสายสีเขียวเหลือ 30บ.