คอมมิวนิสต์ก็ชอบบิ๊กแม็ค : ย้อนดู MCDONALD'S ร้านแรกในรัสเซียที่มีจุดเริ่มต้นจากโอลิมปิก

Home » คอมมิวนิสต์ก็ชอบบิ๊กแม็ค : ย้อนดู MCDONALD'S ร้านแรกในรัสเซียที่มีจุดเริ่มต้นจากโอลิมปิก
คอมมิวนิสต์ก็ชอบบิ๊กแม็ค : ย้อนดู MCDONALD'S ร้านแรกในรัสเซียที่มีจุดเริ่มต้นจากโอลิมปิก

หากพูดถึงแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดเมนู แฮมเบอร์เกอร์ ที่คนส่วนใหญ่คุ้นหู หนึ่งในนั้นต้องมี “แมคโดนัลด์” แบรนด์ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีร้านมากกว่า 39,000 สาขา ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสได้กินแมคโดนัลด์กันง่าย ๆ เพราะหลายประเทศไม่ยอมเปิดรับแฟรนไชส์นี้ โดยเฉพาะชาติคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น ที่เห็นว่าแฮมเบอร์เกอร์เป็นอาหารที่น่าอับอาย

สหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน กว่าจะได้ลิ้มรสบิ๊กแมคของอร่อย ต้องรอจนถึงปี 1990 ซึ่งพวกเขาควรจะได้สัมผัสรสชาติแฮมเบอร์เกอร์ก่อนหน้านั้นเป็นสิบปี 

 
เพราะครั้งหนึ่งโอลิมปิก เกมส์ เคยพาให้ชาวโซเวียตได้พบรักกับแฮมเบอร์เกอร์ชื่อดัง จนยอมลดอุดมการณ์ไม่เอาทุนนิยมแบบคอมมิวนิสต์ เพื่อหวังไปนำแฟรนไชส์นี้ ไปเปิดร้านที่ประเทศบ้านเกิด

โอลิมปิกเป็นเหตุ

ความบาดหมางระหว่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต เริ่มต้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในปี 1945 หลังจากร่วมมือกันปราบเผด็จการนาซีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ การแบ่งเค้กทางอำนาจจึงเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า ประเทศไหนควรมีอำนาจเหนือพื้นที่ใดบนโลก

yjy
ความแตกต่างทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง นำไปสู่ปัญหาที่ตามมา … สหภาพโซเวียต เชื่อในระบอบคอมมิวนิสต์สุดโต่ง ที่เลยเถิดจนถึงการเป็นเผด็จการ แต่หลักที่ยึดมั่น คือการไม่เอาทุนนิยมโดยเด็ดขาด

ขณะที่ สหรัฐอเมริกา เชื่อในระบอบประชาธิปไตย, ทุนนิยม และเสรีนิยม (แม้ในความเป็นจริง สหรัฐฯ จะสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ ในหลายประเทศ เช่น ไทย, เวียดนามใต้ และ เกาหลีใต้ ก็ตาม) 

ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจประณีประนอมกันได้ และต่างฝ่ายล้วนคิดว่า แนวคิดตรงข้ามเป็นภัยกับชาติของตัวเอง จึงนำมาสู่การเปิดสงครามเย็น (Cold War) หรือการรบที่โซเวียต และสหรัฐฯ ไม่เปิดฉากรบกันโดยตรง แต่ใช้การต่อสู้รูปแบบอื่น มาเป็นสังเวียนแทน

ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ผ่านสงครามตัวแทน เช่น สงครามเกาหลี (1950-53), การชิงดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1954-1977), การรัฐประหารอิหร่าน (1953), การปฏิวัติกัวเตมาลา (1954), การปฏิวัติฮังการี (1956) และสงครามเวียดนาม (1955-1975) เป็นต้น

รวมถึง การปะทะที่ไม่ใช้อาวุธสงคราม เช่น การต่อสู้ด้วยเศรษฐกิจ, แข่งกันพัฒนาบ้านเมือง, สร้างสรรค์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ รวมถึงชิงความเป็นเลิศด้านกีฬา

โอลิมปิก เกมส์ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะถูกใช้เป็นสนามรบจำลองของทั้งสองชาติ ผ่านการชิงเหรียญทองในเกมการแข่งขัน ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ จนกระทั่ง สหภาพโซเวียตได้ใกล้ชิดความเป็นอเมริกันมากที่สุด ผ่าน มอนทรีออลเกมส์ หรือ โอลิมปิก ปี 1976 ที่ประเทศแคนาดา

ทีแรกการแข่งขันในปี 1976 เป็นการชิงชัยสถานที่จัด ระหว่าง แคนาดา และโซเวียต เพราะฝั่งคอมมิวนิสต์ อยากให้โอลิมปิก มาจัดในดินแดนของพวกเขาบ้าง หลังจากเกิดขึ้นในพื้นที่ของค่ายเสรีนิยมเป็นส่วนใหญ่

1976
นอกจาก โซเวียตจะอกหักแล้ว การจัดโอลิมปิก เกมส์ ในครั้งนั้น ยังต้องเห็นสหรัฐอเมริกา พยายามเข้ามายุ่งอยู่ตลอดเวลา (โดยที่แคนาดาไม่ได้รับเชิญ หรือต้องการให้มาข้องเกี่ยว) 

สหภาพโซเวียตตัดสินใจส่งนักกีฬาเข้าร่วมตามปกติ โดยไม่กลัวโอกาสการกระทบกระทั่ง กับนักกีฬาชาวอเมริกัน ซึ่งโซเวียตคิดถูก เพราะพวกเขายึดตำแหน่งเจ้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ แถมเยอรมันตะวันออก ชาติใต้อาณัติ ยังมีเหรียญทองเป็นอันดับ 2 เหนือสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

สหรัฐอเมริกาถูกถล่มยับเยินในเกมกีฬา แต่ใช่ว่าจะไม่มีทางโต้กลับ เพราะโอลิมปิกครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ชาติยักษ์ใหญ่ฝั่งโลกเสรี หวังใช้ของกินอย่าง “แฮมเบอร์เกอร์” ในการทำให้โซเวียตต้องขายหน้า

ชีสเบอร์เกอร์ของอร่อย

แฮมเบอร์เกอร์ คืออาหารคู่ชาติของชาวอเมริกัน แม้ว่าอาหารชนิดนี้ ถือกำเนิดบนแผ่นดินเยอรมัน แต่พูดถึงเรื่องความผูกพัน สหรัฐอเมริกาชนะขาดลอย 

สหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่าเป็นชาติเดียวที่กินแฮมเบอร์เกอร์แบบเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งเมื่อเข้าสู่ยุค 1970s ไม่มีแฮมเบอร์เกอร์ยี่ห้อไหน โด่งดังไปกว่า แมคโดนัลด์

mcdonald_20161112_230430
แมคโดนัลด์ เกิดขึ้นในปี 1937 ที่เมืองมอนโรเวีย รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยตอนแรกเริ่มต้นขายขนมปังไส้กรอก ก่อนจะเพิ่มแฮมเบอร์เกอร์ตามมาทีหลัง แต่ดันได้รับความนิยมมากกว่า ด้วยเมนูเด็ดอย่าง ชีสเบอร์เกอร์ จนตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นร้านขายแฮมเบอร์เกอร์เป็นหลัก เมื่อปี 1948

 
เข้าสู่ยุค 70s แมคโดนัลด์ขยายสาขาไปหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมันตะวันตก, สวีเดน, เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง แคนาดา มีการเปิดร้านแรก ตั้งแต่ปี 1967

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศที่แมคโดนัลด์สามารถไปเปิดสาขาได้ ล้วนเป็นชาติที่ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของสหภาพโซเวียต เพราะด้วยแนวคิดคอมมิวนิสต์ ไม่ยอมปล่อยให้บริษัทอาหารข้ามชาติ เข้ามาแสวงผลกำไร ในประเทศของตัวเองอย่างแน่นอน

mcdonalds-in-japan-circa-1973
เนื่องจากไม่มีแมคโดนัลด์ในประเทศของตัวเอง เมื่อคนจากสหภาพโซเวียตได้มาเยือนโลกเสรี ผ่านโอลิมปิก เกมส์ 1976 พวกเขาจึงไม่พลาดได้ลองชีสเบอร์เกอร์ และถึงกับพูดไม่ออกด้วยความอร่อย 

จอร์จ โคฮอน ผู้ดูแลธุรกิจแมคโดนัลด์ในแคนาดา ไม่ปล่อยโอกาสทางการค้าให้หลุดลอย ตัดสินใจดีลกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลโซเวียต ที่เดินทางมากับคณะนักกีฬา ให้ช่วยเปิดทางอนุญาตแฟรนไชส์แฮมเบอร์เกอร์เจ้านี้ ไปตั้งร้านโดดเด่นเป็นสง่า ณ ใจกลาง กรุงมอสโก ได้หรือไม่ ?

กว่าจะได้กินแฮมเบอร์เกอร์

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ตัวแทนของโซเวียต ตัดสินใจตอบตกลงความต้องการของแมคโดนัลด์ ยืนยันว่าแบรนด์สามารถไปเปิดร้านในกรุงมอสโกได้ 

การพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่ายดำเนินต่อเนื่อง จนได้ข้อสรุปว่า แมคโดนัลด์ร้านแรกในสภาพโซเวียต จะเปิดขึ้นที่กรุงมอสโก ตอนปี 1980 เพื่อต้อนรับ โอลิมปิก เกมส์ ที่จะไปจัด ณ สหภาพโซเวียต ในปีนั้น

ทุกอย่างควรจะไปได้สวย จนกระทั่งกลุ่มประเทศโลกเสรี นำโดยสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจคว่ำบาตรโอลิมปิกในครั้งนั้น นำมาซึ่งการถอนตัวของ 65 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทย) ปล่อยให้ชาติคอมมิวนิสต์แข่งกันเองอย่างเหงาหงอย 

merlin_174716415_9609d13d-5fa
เจอแบบนี้ เป็นใครก็มีของขึ้น โปรเจกต์การตั้งแมคโดนัลด์สาขาแรก ในสหภาพโซเวียตจึงพังไม่เป็นท่า แถมความคิดที่จะเอาอาหารของคนอเมริกัน มาวางขายในกรุงมอสโก ได้ถูกเรียกว่าเป็นความน่าอับอายของชาติอีกด้วย

จากจะได้ลิ้มรสของอร่อย คนโซเวียตรวมถึงชาติคอมมิวนิสต์อื่น ๆ แม้กระทั่งจีน ต้องนั่งเศร้าอดกินแมคโดนัลด์กันต่อไป จนกระทั่ง 10 ปีถัดมา โอกาสได้กลับมาหาพวกเขาอีกครั้ง

ปี 1990 สืบเนื่องจากความอ่อนแอของฝั่งคอมมิวนิสต์ หลายประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันการเมืองของสหภาพโซเวียต กำลังระส่ำระส่ายอย่างหนัก มีการแย่งชิงอำนาจ และแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ เลิกเป็นคอมมิวนิสต์

บวกกับโซเวียต มีปัญหาทางเศรษฐกิจสะสมมาอย่างยาวนาน จึงไม่สามารถต้านทานแนวคิดทุนนิยมได้อีกต่อไป ต้องเปิดรับธุรกิจต่างชาติเข้ามาอย่างช้า ๆ และคราวนี้ถึงคราของแมคโดนัลด์เสียที

หลังจากชูเรื่องการสร้างผลิตโรงงานแฮมเบอร์เกอร์ เพิ่มการจ้างงานให้กับประชาชน แมคโดนัลด์จึงได้ไฟเขียวจากรัฐบาลโซเวียต อย่างไม่ต้องสงสัย และตั้งสาขาแรกที่กรุงมอสโกได้สำเร็จ

 
แมคโดนัลด์ร้านแรกในโซเวียต เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 31 มกราคม 1990 มีผู้คนกว่า 38,000 คน มาต่อคิดรอกินแฮมเบอร์เกอร์ ชนิดที่เรียกว่าขนาดเปิดขายทั้งวันทั้งคืน ก็มีลูกค้ารอต่อคิวหน้าร้านอยู่ตลอดเวลา

i288208_14-mcdonalds-opening-

mcdonalds_soviet_union_moscow
แฮมเบอร์เกอร์ กลายเป็นปรากฎการณ์ในสหภาพโซเวียต อย่างน่าเหลือเชื่อ … ความสำเร็จครั้งนี้ช่วยให้แมคโดนัลด์ เปิดสาขาในประเทศจีน อีกชาติยักษ์ใหญ่ของฝั่งคอมมิวนิสต์ ภายในปีเดียวกัน 

ปัจจุบัน แมคโดนัลด์มีสาขาในประเทศรัสเซีย มากกว่า 750 สาขา มียอดขายเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในเฟรนไชส์อาหารจากสหรัฐฯ ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมาตลอด

 russia-cuisine-mcdonalds-1
เรื่องราวนี้ สามารถบ่งบอกได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก มีความเชื่อมโยงกันหมด เพราะใครจะไปคิดว่า เรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง, การวางแผนขยายธุรกิจ, กีฬา และแฮมเบอร์เกอร์ สามารถเกี่ยวเนื่องกัน จนกลายเป็น หนึ่งในเหตุการณ์บนหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ