ควีนฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ย้อนรำลึกวันวานเมื่อทรงรู้ว่าจะได้เป็นราชินีตั้งแต่พระชันษา 7 ปี

Home » ควีนฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ย้อนรำลึกวันวานเมื่อทรงรู้ว่าจะได้เป็นราชินีตั้งแต่พระชันษา 7 ปี


ควีนฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ย้อนรำลึกวันวานเมื่อทรงรู้ว่าจะได้เป็นราชินีตั้งแต่พระชันษา 7 ปี

กล่าวกันว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร ทรงใช้ชีวิตวัยเยาว์ช่วงสิบปีแรกอย่างอิสรเสรี ในแต่ละวันทรงใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นกับสุนัขและม้า โดยเจ้าหญิงพระองค์น้อยไม่ได้ล่วงรู้เลยว่า โชคชะตาจะลิขิตให้ต้องขึ้นครองราชย์ในวันหนึ่งข้างหน้า

ในวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ สมเด็จพระราชินีนาถฯ หรือ “ควีน” ของชาวอังกฤษและประชากรกว่า 500 ล้านคนในประเทศเครือจักรภพ จะทรงครองสิริราชสมบัติมาครบรอบ 70 ปี และจะมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องในวโรกาสที่เรียกได้ว่าเป็น “การอภิเษกรอบแพลทินัม” (Platinum jubilee) ซึ่งหาได้ยากยิ่ง

เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ขวาสุด) พร้อมกับเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระขนิษฐา และพระบิดาและพระมารดา ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นดยุคและดัชเชสแห่งยอร์ก

ที่มาของภาพ, Universal History Archive/Getty Images

แต่หากย้อนเวลาไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ควีนในวัยเด็กนั้นยังคงมีพระฐานันดรไม่ต่างไปจากเจ้าหญิงเบียทริซ พระราชนัดดาผู้เป็นพระธิดาของดยุคแห่งยอร์ก ผู้สืบสันตติวงศ์ในลำดับที่สอง ซึ่งเท่ากับว่าเจ้าหญิงน้อยเอลิซาเบธยังอยู่ห่างไกลจากโอกาสสืบราชบัลลังก์พอสมควร

ทว่าเหตุการณ์พลิกผันในเดือนธันวาคม ปี 1936 ได้กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของพระองค์ เมื่อ “ลุงเดวิด” หรือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติเพื่อสมรสกับนางวอลลิส ซิมป์สัน แม่ม่ายชาวอเมริกันผู้ผ่านการหย่าร้าง ทำให้พระบิดาของเจ้าหญิงน้อยต้องขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 อย่างกะทันหัน และส่งผลให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธกลายมาเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ในลำดับแรกทันที

เจ้าหญิงเอลิซาเบธขณะทรงเป็นทารก พร้อมกับสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัยกี ในปี 1926

ที่มาของภาพ, Getty Images

1px transparent line

แม้จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน แต่ก็ใช่ว่าเจ้าหญิงพระองค์น้อยขณะมีพระชันษา 10 ปี จะทรงไร้เดียงสาจนไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาเสียเลย เจ้าหญิงมาร์กาเรตผู้เป็นพระขนิษฐาทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 ขึ้นครองราชย์ ให้กับเอลิซาเบธ ลองฟอร์ด นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้ฟังเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1980 ดังต่อไปนี้

เมื่อได้ยินเสียงเสียงโห่ร้องยินดีจากฝูงชนที่ด้านนอกพระตำหนักทาวน์เฮาส์ในย่านพิคคาดิลลี เจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ตรัสกับพระขนิษฐาว่า “พ่อจะได้เป็นพระราชา”

เจ้าหญิงมาร์กาเรตขณะมีพระชันษา 6 ปีตรัสตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นต่อไปพี่ก็จะได้เป็นพระราชินีด้วยน่ะสิ”

“ใช่…ฉันคิดว่าอย่างนั้นนะ” เจ้าหญิงเอลิซาเบธตรัสด้วยน้ำเสียงที่เรียบเฉย

“น่าสงสารจัง !” เจ้าหญิงมาร์กาเรตอุทาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงเล่าเรื่องนี้อีกครั้งในอีก 20 ปีต่อมา ทรงเลือกที่จะข้ามเรื่องคำอุทานน่าขันตอนท้ายสุดไปเสีย โดยเรื่องราวที่ทรงเปิดเผยกับเบน พิมลอตต์ นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษอีกผู้หนึ่งนั้น เน้นไปยังท่าทีสงบนิ่งและไม่ตื่นเต้นเลยแม้แต่น้อยของรัชทายาทบัลลังก์อังกฤษคนใหม่ เจ้าหญิงมาร์กาเรตยังบอกกับพิมลอตต์ว่า “หลังจากวันนั้นก็ไม่ได้ทรงเอ่ยถึงเรื่องนี้อีกเลย”

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงรับรู้ถึงโอกาสในการขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีนาถในอนาคตตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยวิธีใดกันแน่

Short presentational grey line

บุคคลแรกที่เป็นแบบอย่างของการเป็นกษัตริย์ให้กับเจ้าหญิงเอลิซาเบธนั้น ได้แก่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ผู้เป็นพระอัยกา โดยทรงเรียกเสด็จปู่ว่า “คุณปู่ประเทศอังกฤษ” (Grandpa England) ฉายานี้แสดงถึงความเฉลียวฉลาดของเจ้าหญิงน้อย ในการทำความเข้าใจต่อภาระหน้าที่สำคัญของการเป็นกษัตริย์ได้เป็นอย่างดี

จอห์น กอร์ ผู้เขียนพระราชประวัติฉบับทางการของพระเจ้าจอร์จที่ 5 แสดงความเห็นว่า “พระอัยกาของควีนไม่ได้เป็นผู้มีบุคลิกทรงเสน่ห์หรือเข้าสังคมเก่ง ไม่ได้ทรงพระปรีชาในทางวิชาการ ไม่ได้มีไหวพริบปฏิภาณหรือกล้าได้กล้าเสียแบบนักเลง แต่ก็สามารถจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขันไปได้ทุกครั้ง”

ไม่น่าแปลกใจว่าควีนได้ใช้ทักษะซึ่งเรียนรู้มาโดยตรงจากผู้เปลี่ยนชื่อราชวงศ์อังกฤษเป็น “วินด์เซอร์” ในการก้าวข้ามอุปสรรคมากมายตลอดรัชสมัยที่ยาวนานถึง 70 ปี น้อยคนที่จะรู้ว่าพระนามลำลอง “ลิลิเบธ” (Lilibet) ที่เรียกขานกันในหมู่พระราชวงศ์ มาจากพระนาม “ลิลลี่เบธ” (Lilybet) ที่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเรียกพระราชนัดดาอย่างรักใคร่เอ็นดู

พระรูปเจ้าหญิงเอลิซาเบธที่ทรงฉายราว ๆ ปี 1929

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 1929 พระเจ้าจอร์จที่ 5 โปรดให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธพระชันษา 3 ปี เข้าเฝ้าที่พระตำหนักริมทะเลในแคว้นซัสเซกซ์ ซึ่งเป็นสถานที่พักฟื้นหลังทรงรับการผ่าตัดพระปัปผาสะ (ปอด) ในการนี้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ตรัสกับพระบิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธว่า “พี่ชายของเธอจะไม่มีวันได้เป็นกษัตริย์หรอก…สักวันเขาจะสละบัลลังก์แน่”

ไม่มีใครคาดคิดว่าพระราชดำรัสนี้จะกลายเป็นจริงในเวลาเพียง 7 ปีต่อมา นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีผู้กล่าวเป็นนัยต่อพระพักตร์ของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ถึงความเป็นไปได้ที่อาจได้ทรงขึ้นครองบัลลังก์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถในวันหนึ่งข้างหน้า

Short presentational grey line

แม้แต่เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งได้พบกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งยอร์กขณะมีพระชันษาไม่กี่ปีที่ปราสาทบัลมอรัล ยังเขียนบอกเล่าในจดหมายถึงภรรยาเอาไว้ว่า “ทรงมีบุคลิกโดดเด่น แสดงถึงความมีอำนาจและการใช้ความคิดไตร่ตรองที่น่าชื่นชมสำหรับเด็กในวัยนี้”

ภาพเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ทรงก่อปราสาททราย ขณะที่พระอัยกา กำลังทอดพระเนตรอยู่ในบอกเนอร์รีจิส ปี 1929

ที่มาของภาพ, Getty Images

Short presentational grey line

บรรณารักษ์หลวง โอเวน มอร์เชด บันทึกเหตุการณ์ซึ่งเขาได้พบเห็นที่พระราชวังวินด์เซอร์ เมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1920 เอาไว้ว่า “พระพี่เลี้ยงนำเจ้าหญิงซึ่งประทับบนรถเข็น ออกมาทอดพระเนตรการเปลี่ยนเวรของทหารยาม เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งเข้าไปทำความเคารพเจ้าหญิง ก่อนจะขอประทานพระอนุญาตเดินสวนสนามผ่านเลยไป ซึ่งน่าทึ่งว่าเจ้าหญิงสามารถพยักพระพักตร์เป็นการตอบรับ รวมทั้งโบกพระหัตถ์เป็นสัญญาณให้เดินสวนสนามต่อไปได้ ราวกับจะทรงรู้ว่านั่นคือสิ่งที่พระราชวงศ์รวมทั้งองค์พระมหากษัตริย์ควรจะต้องปฏิบัติ

เจ้าหญิงเอลิซาเบธ บนแสตมป์ราคา 6 เซนต์ จากนิวฟาวด์แลนด์ ในปี 1932

1px transparent line

หลังวันคล้ายวันประสูติครบรอบปีที่ 4 ได้ไม่นาน มีการนำหุ่นขี้ผึ้งของพระองค์ออกแสดงเป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ สองปีต่อมามีการพิมพ์พระฉายาลักษณ์ลงบนแสตมป์ของนิวฟาวด์แลนด์ ส่วนบริเวณที่ใกล้กับขั้วโลกใต้ยังมีการชักธงยูเนียนแจ็คเหนือดินแดน 350,000 ตารางไมล์ที่ออสเตรเลียอ้างกรรมสิทธิ์ โดยได้รับการขนานนามว่า “ดินแดนของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ”

กราฟิก

หนังสือพิมพ์ Belfast News Letter รายงานเมื่อปี 1932 ว่า เมื่อใดที่เจ้าหญิงประทับรถยนต์พระที่นั่งซึ่งขับออกมาที่สวนสาธารณะ ผู้คนต่างก็จำพระองค์ได้โดยพากันถอดหมวกทำความเคารพและโบกผ้าเช็ดหน้าทักทาย

เมื่อมีพระชันษาได้ 7 ปี ทรงออกบัตรเชิญแก่พระสหายให้มาร่วมในงานปาร์ตี้ดื่มน้ำชา โดยทรงเลือกใช้ตราประทับที่มีอักษรย่อ E อยู่ใต้ตรามงกุฎ

เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ขวา) กับเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระขนิษฐา ในปี 1933

ที่มาของภาพ, Getty Images

1px transparent line

นอกจากนี้ ฟิลิป เดอ ลาซโล จิตรกรคนดังผู้วาดพระสาทิสลักษณ์ลงบนกล่องช็อกโกแลตที่ระลึกก็บอกว่า “ทรงเป็นเด็กหญิงที่งดงามและปราดเปรื่องที่สุด ทรงเป็นที่นิยมและเอ็นดูรักใคร่ของประชาชนจำนวนมาก ขณะนี้ต่างก็มองกันว่าพระองค์คือสมเด็จพระราชินีนาถของอังกฤษในอนาคต”

รายงานข่าวของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ปี 1934 ระบุว่า “เนื่องจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เคยแสดงความอึดอัดไม่พอพระทัยต่อการที่จะต้องสืบราชสมบัติต่อจากพระบิดา มาบัดนี้เจ้าหญิงน้อยเอลิซาเบธในฐานะพระรัชทายาทสายตรงในลำดับต้น ๆ จึงต้องได้รับการศึกษาอบรมอย่างเข้มงวด”

Short presentational grey line

มาเรียน ครอว์ฟอร์ด หรือ “ครอว์ฟี่” พระพี่เลี้ยงและครูในวัยเด็กของเจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเรต ถึงกับต้องรับสนองพระเสาวนีย์จากสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัยกี เพื่อทำให้การเรียนและเล่นของของเจ้าหญิงทั้งสองเป็นแบบแผนจริงจังมากขึ้นกว่าที่พระมารดาดูแลอยู่ ส่วนพระเจ้าจอร์จที่ 5 ผู้เป็นพระอัยกานั้น ทรงหวังเพียงให้กวดขันเรื่องการคัดลายมือ เพื่อให้เหล่าพระราชนัดดาทรงพระอักษรได้สวยงามอ่านได้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น

เจ้าหญิงน้อยเอลิซาเบธเคยบอกกับ “ครอว์ฟี่” ว่า “ถ้าฉันเป็นพระราชินี จะออกกฎหมายห้ามขี่ม้าในวันอาทิตย์ เพราะม้าก็ต้องการวันหยุดแบบคนเหมือนกัน”

ครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระราชินีแมรีผู้เป็นพระอัยกี ทรงสังเกตเห็นพระราชนัดดาบิดและขยับพระองค์ไปมาอย่างรำคาญพระทัยระหว่างการชมคอนเสิร์ต จึงตรัสถามว่าอยากจะเสด็จกลับพระราชวังไหม

เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระชันษา 10 ปี กับสุนัขทรงเลี้ยง

ที่มาของภาพ, Getty Images

Short presentational grey line

“ไม่นะคะคุณย่า เราจะออกไปก่อนดนตรีเล่นจบไม่ได้ ต้องคิดถึงคนที่จะมารอพบเราข้างนอกตอนงานเลิกด้วยสิคะ” เจ้าหญิงตรัสตอบ

ทั้งพระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรี ต่างก็ทรงพยายามถ่ายทอดบทเรียนการเป็นพระราชวงศ์ที่ดีให้แก่พระราชนัดดาคนโปรด ทั้งในเรื่องปลูกฝังความตระหนักว่าตัวของพระองค์เองไม่ได้สำคัญไปกว่าการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์โดยรวม และในเรื่องการเป็นสมาชิกที่ดีของ “ทีม” หรือพระราชวงศ์อังกฤษนั่นเอง

เจ้าชายจอร์จกับเจ้าชายวิลเลียมและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่พิธีสวนสนามของทหาร ในปี 2015

ที่มาของภาพ, Getty Images

เป็นที่แน่ชัดว่าด้วยพระชันษาเพียง 7 ปี เจ้าหญิงเอลิซาเบธก็ทรงได้รับทราบและเข้าพระทัยถึงภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในฐานะพระมหากษัตริย์ที่รอพระองค์อยู่ข้างหน้า ต่อมาเมื่อทรงครองราชย์ในปี 1952 ทรงต้องเผชิญกับวิกฤตศรัทธาที่ถาโถมเข้ามายังราชวงศ์วินด์เซอร์ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองก็ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า พระองค์คือผู้นำทางฝ่าวิกฤติที่ทำให้สถาบันกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรยังคงดำรงอยู่ได้ ท่ามกลางความผันผวนและวุ่นวายยุ่งเหยิงของโลกยุคใหม่

เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเรต พร้อมกับพระบิดาและพระมารดา และสุนัขทรงเลี้ยงที่พระราชวังวินด์เซอร์ในปี 1936

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • โรเบิร์ต ลาซีย์
  • นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ

……………………………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ