"ความรุนแรงในครอบครัว" ผลลัพธ์จากระบบคิด "ชายเป็นใหญ่"

Home » "ความรุนแรงในครอบครัว" ผลลัพธ์จากระบบคิด "ชายเป็นใหญ่"
"ความรุนแรงในครอบครัว" ผลลัพธ์จากระบบคิด "ชายเป็นใหญ่"

Highlight 

  • ความรุนแรงในครอบครัวเกี่ยวข้องกับเรื่อง “อำนาจ” ซึ่งคนที่มีอำนาจมากกว่าในความสัมพันธ์ก็จะใช้อำนาจเพื่อควบคุมอีกฝ่าย อาจเป็นการทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายจิตใจ 
  • แม้ทุกเพศจะมีโอกาสตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง แต่สถิติของศูนย์ปฏิบัติกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ระบุว่า ในปี 2564 เพศหญิงตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 81% ขณะที่เพศชายเป็นผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว 86%
  • “ระบบคิดชายเป็นใหญ่” ทำหน้าที่กำหนดบทบาททางเพศของคนในสังคม ทั้งยังเป็นแกนหลักของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม 
  • การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการต่อสู้กับระบบคิดชายเป็นใหญ่ เพื่อให้อำนาจนิยมลดลง

“ความรุนแรงในครอบครัว” อีกหนึ่งปัญหาในครอบครัวที่ลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม และถูกหยิบยกมาถกเถียงเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหามาอย่างยาวนาน ทว่าก็ยังมี “ผู้ถูกกระทำ” จากความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นอยู่ในทุกวินาที จนคล้ายกับว่าการพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาไม่เคยได้ผลจริง นอกจากนี้ แม้จะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าส่วนใหญ่ เด็กและผู้หญิงมักตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่ที่จริงแล้ว คนทุกเพศและทุกวัยสามารถตกเป็นเหยื่อความรุนแรงได้ทั้งนั้น เนื่องจาก “ระบบคิดชายเป็นใหญ่” ที่ส่งผลต่อค่านิยมเรื่องเพศของคนในสังคมอย่างเข้มข้น

  • สรุปข่าว “น้องนุ่น” สาวสวยหายตัวปริศนา สุดท้ายพบ “สามี” เป็นคนฆ่า-เอาศพไปทิ้ง
  • ตะลึง! Sanook ย้อนสถิติ พบข่าวคู่รัก “ทำร้าย – ฆ่าให้ตาย” มีรายงานเกือบทุกวัน  

“อำนาจ” ปัจจัยสำคัญของความรุนแรงในครอบครัว

เมื่อพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว หลายคนคงคิดถึงภาพของสามีทุบตีภรรยา อาการบาดเจ็บของผู้ถูกกระทำที่ใบหน้าบวมปูดและร่างกายมีรอยฟกช้ำ หรือที่เลวร้ายที่สุดก็คือร่างที่ไร้วิญญาณของผู้ถูกกระทำ ที่สร้างความสลดใจให้กับคนในสังคมเป็นอย่างมาก แต่ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้มาในรูปแบบของการทำร้ายร่างกายเพียงเท่านั้น ยังมีความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ ที่ทิ้งบาดแผลให้ผู้ถูกกระทำอย่างรุนแรง เช่น การทำร้ายด้วยวาจา เป็นต้น 

ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวคือ “อำนาจ” ที่ทำให้คน ๆ หนึ่งคิดว่าตัวเองสามารถทำร้ายคนในครอบครัวได้โดยชอบธรรม 

“(ความรุนแรงในครอบครัว) คือเรื่องอำนาจที่ไม่เท่ากันในความสัมพันธ์และการใช้อำนาจแบบผิด ๆ มันคือการใช้อำนาจเพื่อกระทำความรุนแรง ใช้อำนาจเพื่อควบคุมอีกฝ่ายในความสัมพันธ์ จะควบคุมด้วยการใช้ความรุนแรงทางตรง ทำร้ายร่างกาย หรือทำร้ายด้วยวาจา พูดจากดขี่ ดูถูก ด่าทอหยาบคาย เพื่อที่จะควบคุมหรือทำให้อีกฝ่ายยอมจำนนอยู่ภายใต้อำนาจ และยอมทำสิ่งที่ฝ่ายใช้ความรุนแรงต้องการ” ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เริ่มต้นอธิบาย 

สอดคล้องกับกอล์ฟ แอดมินเพจ “นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง” ที่มองว่าประเด็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองว่า ใครเป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในครอบครัว ทั้งนี้ อำนาจก็อาจจะมีที่มาหลายแบบ เช่น เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ที่บางครอบครัวมีผู้หญิงเป็นผู้นำและผู้ชายก็อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นต้น ขณะที่จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ว่า ผู้หญิงอาจจะมีอำนาจมากกว่าผู้ชาย และเป็นผู้ใช้ความรุนแรงในครอบครัว แต่เขาเชื่อว่า สำหรับสังคมไทยแล้ว ผู้หญิงก็ยังตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากกว่าผู้ชาย

“ในสังคมโลกอาจจะมีแนวโน้มที่ผู้หญิงจะมีอำนาจเหนือกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้ชายตกเป็นผู้ถูกกระทำได้ แต่ในสังคมไทยมันต่างกัน โอกาสที่ผู้หญิงจะใช้ความรุนแรงกับผู้ชายมันมีอยู่ แต่ผู้หญิงที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชายก่อนมีน้อยมาก เพราะว่าอำนาจของผู้ชายมากกว่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจการบริหารงาน เราก็จะเห็นชัดว่าผู้หญิงถูกกระทำมากกว่า” จะเด็จระบุ 

ผู้หญิงมีแนวโน้มถูกทำร้ายมากกว่า 

แม้ว่าทุกเพศสามารถตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวได้ เนื่องจากปัจจัยเรื่องอำนาจ แต่ในสังคมที่ถูกครอบด้วย “ระบบคิดชายเป็นใหญ่” ที่ให้อำนาจกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงมีโอกาสที่จะถูกทำร้ายมากกว่าผู้ชาย และเกิดกลไกในการคุ้มครองผู้หญิงเป็นหลัก

สถิติความรุนแรงในครอบครัว ประจำปีงบประมาณ 2564 ของศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า เพศหญิงตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 81% ขณะที่เพศชายเป็นผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว 86% ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง เช่น ยาเสพติด สุรา หึงหวง ความเครียดทางเศรษฐกิจ หรือมีความรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่า เป็นต้น 

“ทุกเพศมีโอกาสเป็นผู้ถูกกระทำได้ และทุกเพศในที่นี้ก็ไม่ใช่ผู้หญิงกับผู้ชายด้วย แต่โดยข้อเท็จจริง ผู้หญิงหรือเด็กจะเป็นฝ่ายถูกทำร้ายมากกว่า” ดร.วราภรณ์ชี้ 

“ต้องเข้าใจว่าในสังคมไทยหรือสังคมโลก อำนาจผู้ชายมีมากกว่า เพราะฉะนั้นมันเลยนำมาสู่เวลาที่ผู้หญิงเรียกร้อง ก็จะเกิดกลไกที่คุ้มครองผู้หญิง แล้วสังคมโลกที่เป็นสังคมชายเป็นใหญ่ แน่นอนสังคมก็มีความรู้สึกว่าคนที่ถูกกระทำ คนที่ถูกเลือกปฏิบัติ คนที่เสียเปรียบในสังคมแบบนี้ก็เป็นผู้หญิง หรือเพศอื่น ๆ ที่มีอำนาจน้อยกว่า” จะเด็จเสริม

“ระบบคิดชายเป็นใหญ่” ที่กดทับทุกคน

“ชายเป็นใหญ่คืออะไร มันคือความคิดที่ให้อำนาจ ให้อภิสิทธิ์ ให้โอกาสกับผู้ชาย แล้วก็กระทั่งว่าการกระทำความผิด การทำร้ายร่างกาย หรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถูกยกเว้น ถูกปล่อยไป ไม่มีการดำเนินการใด ๆ อย่างจริงจัง มันคือวิธีคิด วิธีปฏิบัติในสังคมที่อนุญาตให้ผู้ชายใช้ความรุนแรงได้ โดยไม่ค่อยมีการแทรกแซงอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร” ดร.วราภรณ์อธิบาย 

แน่นอนว่าระบบคิดชายเป็นใหญ่ ซึ่งกำหนดบทบาททางเพศของผู้ชายและผู้หญิง ดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อผู้หญิงหรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าในสังคม ทั้งยังเป็น “แกนหลัก” ของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม แต่ระบบคิดชายเป็นใหญ่ที่ดูเหมือนจะช่วยให้ผู้ชาย “ได้เปรียบ” คนเพศอื่นในสังคมก็ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ชายด้วยเช่นกัน  

“เวลาที่เราพูดเรื่องเพศสถานะ ทุกคนอาจจะเคยได้ยินบ่อย ๆ เรื่องระบบคิดชายเป็นใหญ่ เวลาที่สังคมพูดเรื่องชายเป็นใหญ่ เรามักจะพูดว่า ชายเป็นใหญ่มีผลกระทบต่อเพศอื่น ๆ ยังไง โดยเฉพาะเพศหญิง หรือคนที่ออกจากขนบเพศแบบสองเพศ แต่น้อยมากที่เราจะพูดถึงผลกระทบที่มีต่อผู้ชายด้วยกัน หรือในทางหนึ่งคนก็อาจจะเคยได้ยินคำว่าความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) ในแง่หนึ่ง เราปลูกฝังลูกชายเราว่าต้องเข้มแข็ง ต้องแข็งแกร่ง ห้ามร้องไห้ เราเป็นผู้นำครอบครัว มันจะค่อย ๆ สร้างความเข้าใจส่วนบุคคลและทั้งสังคม ว่าผู้ชายเป็นได้แค่ผู้กระทำ แต่ยากมากที่เขาจะเป็นผู้ถูกกระทำ” กอล์ฟชี้ 

ทั้งนี้ ดร.วราภรณ์ ยกตัวอย่างผลลัพธ์ของระบบคิดชายเป็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ในกรณีที่ตกเป็นผู้ถูกกระความรุนแรงในครอบครัว การออกมาขอความช่วยเหลือของผู้หญิงและผู้ชายก็มีรายละเอียดที่เหมือนและแตกต่างกัน โดยความเหมือนคือเรื่องความอับอาย หรือความไม่พร้อมที่จะเลิกราซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ

“ความต่างก็คือ ผู้หญิงจะมีชุดความคิดที่ว่า เป็นผู้หญิงถ้าหย่าร้างจะเสียหาย ฝั่งผู้หญิงจะมีลักษณะของการตีตรา หรือผู้หญิงถูกสอนว่าตัวเองเป็นแม่ ต้องรักลูก ห่วงลูก เราเคยเจอผู้หญิงที่ถูกทำร้ายหนักแล้วไม่ยอมเลิกรา เขาก็ให้เหตุผลว่า เขาไม่อยากเลิกกับสามี เพราะเดี๋ยวลูกจะมีปมด้อย อันนี้คือวิธีคิดที่ถูกปลูกฝังในตัวผู้หญิง และกำกับไม่ให้เขากล้าที่จะเปิดเผย หรือกล้าที่จะออกจากความสัมพันธ์ หรือกลัวว่าจะถูกทำร้ายเพิ่มมากขึ้น” 

“แต่ผู้ชายก็มีอีกชุดความคิดหนึ่งที่เข้ามากำกับ คือว่าเป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง แล้วเมื่อกลายเป็นฝ่ายถูกกระทำ ก็กลายเป็นคนอ่อนแอ มันเหมือนกับว่า คุณค่าความเป็นชายของเขาถูกลดทอนลงไป ก็เป็นสิ่งที่สังคมตีตรา มันตีตรากันไปคนละอย่าง แต่ไม่ได้บอกว่ามากหรือน้อยกว่ากัน เราไม่ได้มีมาตรวัดขนาดนั้น แต่วิธีการตีตรามันคนละอย่าง ซึ่งทั้งสองด้าน มันก็ทำให้คนที่ถูกกระทำก็ยากที่จะออกมาขอความช่วยเหลือ” ดร.วราภรณ์อธิบาย

สร้างสังคมที่ดูแลคนทุกเพศ

ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทุกคนล้วนแล้วแต่สูญเสียความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกัน เพราะมันเกิดจากความไม่ยินยอม เป็นการใช้อำนาจความรุนแรงและการบังคับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดจึงเป็นการต่อสู้กับระบบคิดชายเป็นใหญ่ เพื่อให้อำนาจนิยมลดลง ซึ่งจะเด็จย้ำว่า “ทุกคนต้องต่อสู้ร่วมกัน ต้องชัดเจนว่าการต่อสู้เรื่องอำนาจนิยมที่เหนือกว่า ชายเป็นใหญ่ เราต้องต่อสู้ทั้งหมด”

“เริ่มแรกคือต้องเริ่มสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมก่อนว่า จริง ๆ แล้วเรื่อง (ความรุนแรงในครอบครัว) ไม่ใช่แค่เรื่องผู้หญิงผู้ชาย แต่มีแนวโน้มว่าผู้หญิงจะโดนมากกว่าผู้ชาย ด้วยตัวแนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ แต่ผู้ชายก็มีโอกาสเช่นเดียวกัน” กอล์ฟเสริม “เมื่อพูดเรื่องความเข้าใจ มันต้องรื้อเรื่องระบบการเรียนการสอนเรื่องเพศใหม่ มันคือตั้งแต่เด็ก คือเรื่องการสร้างความเข้าใจให้กับครู การทำงานกับภาคประชาสังคมที่อาจจะต้องทำความเข้าใจที่มากขึ้น” 

เช่นเดียวกับ ดร.วราภรณ์ ที่ระบุว่า ค่านิยมเรื่องเพศในสังคมที่อนุญาตให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ได้แทรกตัวอยู่ในทุกสถาบันของสังคม ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงต้อง “รื้อวัฒนธรรม” และสร้างค่านิยมหรือวิธีคิดแบบใหม่ว่า “ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ” เพราะผลกระทบจากการกระทำความรุนแรงจะเกิดขึ้นกับทุกคนในสังคม 

“ต้องสร้างวิธีคิดใหม่ ไม่ใช่ลิ้นกับฟัน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องผัวเมียเขาเราอย่าไปยุ่ง อันนั้นต้องลบไปให้หมด รวมทั้งความรุนแรงที่ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็กด้วย พ่อแม่ตีลูก ใช้ความรุนแรงกับลูก มันต้องหยุด ความคิดชุดนี้ต้องถูกฝังเข้ามา ถูกติดตั้งเข้ามาในวิธีคิดของคนในสังคม และสถาบันต่าง ๆ องค์กรที่มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัย ดูแลสวัสดิภาพของคนในสังคม” ดร.วราภรณ์ชี้ 

การเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศคงไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อให้ใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร เพราะฉะนั้นเราต้องยืนหยัดว่าทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ให้ผู้หญิงมีอำนาจมากกว่า คุณจะทำให้ผู้หญิงเท่าเทียมผู้ชายได้ ก็ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกเพศ” จะเด็จกล่าวปิดท้าย

  • เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าผู้ชายถูก “ล่วงละเมิดทางเพศ”
  • “ความเป็นชาย” ที่ผู้ชายแบกรับและกดทับทุกคน
  • “เด็กถูกทำร้าย” ปัญหาที่ใหญ่กว่า “เรื่องในครอบครัว”
  • เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ช่วง “COVID-19” นำไปสู่กับดัก “ความรุนแรงในครอบครัว”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ