บุรีรัมย์ ครูประจำชั้น แจงปม 5 ขวบ แขนหักผิดรูป โอดทำหน้าที่เต็มที่แต่กลับถูกโวย พ้อคิดย้ายรร. เผยนักเรียนใส่เฝือกตั้งแต่ก่อนเปิดเทอม
จากกรณีที่ผู้ปกครองนักเรียนชั้นอ.3 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน ต.โคกสูง อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากครูผู้สอนและผอ.โรงเรียน ถึงการเอาใจใส่การดูแลนักเรียน ปล่อยปละละเลย มีนักเรียนบาดเจ็บแขนหักแล้วปล่อยทิ้งนานกว่า 3 ชั่วโมง ไม่แจ้งให้ผู้ปกครองทราบและไม่พาไปรักษาตามเหตุสมควร ขณะที่ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 3 ระบุว่าครูและผอ.โรงเรียน จะต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว วันที่ 4 ก.ค.2565 น.ส.นิตยา หรือครูหนิง ครูประจำชั้นอ.3 กล่าวชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน พ.ค. น้องเคยประสบอุบัติเหตุวิ่งเล่นกับเพื่อนในศูนย์เด็ก แล้วแขนซ้ายหัก ผู้ปกครองก็พาน้องไปหาหมอที่ รพ.นางรอง ซึ่งหมอก็ดามแขนให้ กระทั่ง วันที่ 17 พ.ค.2565 เป็นวันเปิดเทอม คุณอาของน้อง มารับอุปกรณ์การเรียน แล้วแจ้งว่าน้องใส่เฝือกแขนหักมา ร.ร.ไม่ได้ จนถึงวันที่ 30 พ.ค.2565 ก็เห็นยายพาหลาน มาส่งที่ รร. เพราะกลัวเรียนไม่ทันเพื่อน
พอมาถึงครูเห็นว่าน้องใส่เฝือกอยู่จึงแจ้งผู้ปกครองว่า ยังไม่ต้องมาเรียนก็ได้ให้หายดีก่อนค่อยมา หลังจากนั้นน้องก็ไม่ได้มาเรียนอีก จนกระทั่งวันที่ 13 มิ.ย.2565 เป็นเวรประจำวันไปยืนรับนร.หน้ารร. ซึ่งวันนั้นลุงของน้องมาส่งแล้วก็กลับโดยไม่ได้แจ้งอะไร กระทั่งช่วงประมาณ 8 โมงกว่า ครูประจำชั้นอนุบาล 2 เกิดปวดท้องหนัก ต้องนำตัวส่ง รพ.ด่วน ตนจึงต้องทำหน้าที่ดูแลเด็กทั้ง 2 ห้อง คือชั้น อนุบาล 2 และอนุบาล 3 รวมกัน 22 คน
ซึ่งก็มีเด็กที่เป็นโรคหัวใจตีน และขาลีบเดินไม่ได้ ที่ต้องคอยดูแลเป็นพิเศษด้วย พอรับประทานอาหารเที่ยงเสร็จ ก็ให้เด็กเข้านอนครูก็เดินดูทั้ง 2 ห้อง ช่วงบ่ายโมงก็เดินไปสอบถามน้องว่ามีอาการเจ็บแขนหรือไม่ เพราะเห็นว่าเพิ่งจะถอดเฝือกแขน ก็ยังถามน้องว่า ถ้าปวดแขนจะให้กลับบ้านแต่น้องบอกว่าไม่ปวด ก็เลยให้ไปนอนซึ่งเด็กก็นอนถึงบ่าย 2 ไม่ได้มีอาการผิดปกติอะไร
พอดีวันนั้นมีโครงการนมโรงเรียนก็เลยถ่ายรูปเด็กๆ ไว้ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้เห็นแขนหักผิดรูป เหมือนกับที่ปรากฏในข่าว พอเด็กดื่มนมเสร็จก็ให้กลับบ้าน โดยตอนที่ลุงของน้อง มารับก็ยังถามว่าทำไมเขาถึงดามแขนน้องที่เคยประสบอุบัติเหตุได้ขี้แหล่จัง ก็คิดว่าไม่มีอะไร กระทั่งบ่าย 3 ครึ่ง อาเข้ามาที่ รร.มาถามว่าทำไมแขนเด็กเป็นแบบนี้
ตนก็ตกใจเพราะตอนที่เห็นใน รร.ก็ดูปกติ เขาจึงขอพบ ผอ. แจ้งว่าเด็กแขนหัก ผอ.ก็ให้รีบพาไปส่ง รพ. โดย ผอ.ตามไปดูด้วย เพราะตนต้องอยู่เวรดูแลปล่อยเด็กกลับบ้านให้ครบก่อน กระทั่ง 16.30 น. ส่งเด็กเสร็จ ก็ตามที่ ร.พ.นางรอง ก็เห็นเด็กอยู่ห้องฉุกเฉินก็อยู่ดูแลจนถึง 4 ทุ่ม หลังจากเด็กเข้าห้องพิเศษถึงกลับ ตอนที่อยู่ รพ.ก็ยังไปซื้อของและอาหารมาให้อาของเด็กรับประทานอยู่เลย
หลังจากนั้นออกจาก รพ. ช่วงบ่ายวันที่ 14 มิ.ย.2565 ครูประจำชั้นไปเยี่ยมที่บ้านตอนเย็นวันนั้น ถามไถ่อาการผู้ปกครองก็คุยปกติ ไม่มีท่าทีอะไร บอกแค่ว่ามีค่าห้องกับค่าน้ำมันรถด้วยนะครู จากนั้นวันที่ 15 มิ.ย.2565 ผอ.และคณะครูก็ไปเยี่ยมที่บ้านก็เตรียมกระเช้าไปเยี่ยม และเตรียมค่าน้ำมันรถ และค่าห้องพิเศษไปให้เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น แต่เขาไม่ยอมรับเงินดังกล่าวและมีท่าทีที่ไม่พอใจต่างจากวันก่อน บอกว่าให้รอคุยกับผู้ปกครองวันที่ 16 มิ.ย.2565 ครูก็ขอโทษที่อาจจะดูแลไม่ทั่วถึง
ก็เลยพูดคุยว่าแล้วผู้ปกครองจะให้ทำยังไง ผู้ปกครองก็เรียกเงิน 7 หมื่นบาท ผอ.ก็เลยว่าทาง ร.ร.ไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น ก็เลยบอกว่าให้ลดลงหน่อยได้หรือไม่ ทางผู้ปกครองก็บอกว่างั้นเหลือ 55,000 บาท ซึ่งส่วนนี้อยากให้สอบถามกับทาง ผอ.เอง
ครูหนิง ยังบอกอีกว่า แม้จะไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุที่เด็กแขนหักผิดรูปเกิดจากอะไร และถึงแม้จะไม่ได้เกิดจากการกระทำของครู แต่ในฐานะครูประจำชั้นก็ยอมรับว่าอาจจะดูแลเด็กไม่ทั่วถึง ส่วนที่ผู้ปกครองจะเรียกร้องเงินในฐานะที่ปล่อยปะละเลยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทางผู้บริหารว่าจะมีคำสั่งอย่างไร
ซึ่งตนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็คงต้องปฏิบัติตาม แต่ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการกระทำของครู ก็รู้สึกเสียใจที่ทำหน้าที่เต็มที่แล้วแต่ก็มาเจอเรื่องราวแบบนี้ ตอนแรกคิดจะทำเรื่องขอย้ายตัวเองเพราะรู้สึกท้อ แต่ก็มีผู้ปกครองหลายคนมาให้กำลังใจ เพราะเขามองว่าไม่ได้เกิดจากการกระทำของครู
ขณะที่นางแหลม อายุ 72 ปี ยายของเด็ก กล่าวว่า วันเกิดเหตุหลานกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านก็ตัวสั่น เงียบไม่พูด จนกระทั่งที่บ้านถามจึงบอกว่า มีอาการเจ็บแขน จึงพาไปโรงพยาบาล จากนั้นตนก็ไม่รู้เรื่องอะไร เพราะยายไม่ได้ไปพูดคุยด้วย มีแต่อาเขาที่พูดคุยกับทางโรงเรียน แต่ส่วนตัวก็สงสารหลานที่ต้องมาเจ็บแบบนี้