"ครุศาสตร์ฯ ลาดกระบัง" เดินหน้าปั้น "บัณฑิต" ให้เป็นมากกว่า "ครู"

Home » "ครุศาสตร์ฯ ลาดกระบัง" เดินหน้าปั้น "บัณฑิต" ให้เป็นมากกว่า "ครู"
"ครุศาสตร์ฯ ลาดกระบัง" เดินหน้าปั้น "บัณฑิต" ให้เป็นมากกว่า "ครู"

เชื่อว่าถ้าพูดถึง “คณะครุศาสตร์” สิ่งที่หลายคนคิดถึงเป็นอย่างแรกคือ เด็กที่เรียนคณะนี้จบออกไปต้องเป็นได้แค่ครู อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่กับคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ต้องการยกระดับบัณฑิตให้เป็นมากกว่าครูผู้สอน ผ่านหลักสูตรที่สนับสนุนให้นักศึกษาเป็นได้ทั้ง ครู และ ผู้ชำนาญในสายอาชีพอื่น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของยุคปัจจุบัน

วันนี้ Sanook จึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จัก “ครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)” ให้มากขึ้น ผ่านการบทสัมภาษณ์ของศ.ดร.ปริยาภรณ์ ตั้งคุณานันต์ คณบดี และรศ.ดร.ปิ่นมณี ขวัญเมือง อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี 

จาก “ครูผู้สอน” สู่ “นวัตกรทางการศึกษา”

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สจล. มุ่งเน้นให้บัณฑิตจบออกไปแล้ว สามารถประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ครูผู้สอนเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

ศ.ดร.ปริยาภรณ์ ตั้งคุณานันต์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมในปัจจุบันว่า “จากสถิติที่ผ่านมา เด็กที่จบจากครุศาสตร์ฯ ส่วนใหญ่เป็นครูไม่ถึง 40% ที่เหลือจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการต่างๆ” 

ศ.ดร.ปริยาภรณ์ ตั้งคุณานันต์

ด้วยเหตุนี้หลักสูตรของคณะจึงได้มีการเรียนวิชาชีพครู และเพิ่มทักษะวิชาเฉพาะทางเข้าไปด้วย รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ลอง ‘ฝึกงาน’ และ ‘ฝึกสอน’ เพื่อให้มีทั้งประสบการณ์ทั้งการสอน และการทำงานในบริษัทจริง

นอกจากนี้ที่สำคัญที่สุด บัณฑิตที่จบคณะนี้จะได้ใบประกอบวิชาชีพครู หรือหากอยากไปสายอาชีพเฉพาะทางอย่าง วิศวกร หรือ สถาปนิก ก็สามารถไปสอบใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทางของสาขานั้นๆ ได้ เนื่องจากหลักสูตรก็ได้สนับสนุนเส้นทางนี้ด้วยเช่นเดียวกัน 

สำหรับการจัดทำหลักสูตรจะใช้นโยบาย ‘SIET FIRST’ เป็นหลัก โดยประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ดังนี้

  1. ระบบการทำงานที่เป็นเลิศ: เน้นการปรับปรุงระบบต่างๆ ภายในคณะให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการที่ทันสมัย และ ระบบการจัดการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น 
  2. หลักสูตรที่ทันสมัยและตอบโจทย์ตลาดแรงงาน: มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้บัณฑิตมีความรู้ความสามารถที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
  3. สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรม: เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการพัฒนานวัตกรรม เช่น การจัดเตรียมห้องเรียนที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการ Maker Space ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย อย่างเครื่องปริ้น 3D เครื่องมือช่างอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ อย่างเต็มที่

ปัจจุบัน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มีหลักสูตรทั้งหมด 27 หลักสูตร ในสาขาเกษตร คอมพิวเตอร์ สถาปัตยกรรม การออกแบบ ทั้งนี้ในอนาคต คณะมีแผนที่จะพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ในสาขาวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, ภาษาต่างประเทศ และศิลปะ โดยในปี 2568 คาดว่าจะเปิดสอนหลักสูตรใหม่ อย่าง ค.อ.บ. วิทยาการจัดการเรียนรู้ หลักสูตร ค.อ.บ. วิทยาการจัดการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นสาขาที่ผนวกความรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน รวมถึงมีแผนเปิดคอร์สระยะสั้นให้แก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย

สแน็กจากปลีกล้วย อร่อยและยั่งยืน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าคณะครุศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมอย่างยิ่ง จึงได้มีการบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทักษะในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการพัฒนาสแน็กจากปลีกล้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการนำความรู้ทางวิชาการไปประยุกต์ใช้จริง เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม

สแน็กจากปลีกล้วย

สำหรับโครงการนี้เกิดจากความต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ปลีกล้วย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีราคาไม่สูงและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครนำไปทำอะไร จึงจุดประกายเป็นไอเดียการนำปลีกล้วยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงยังตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

รศ.ดร.ปิ่นมณี ขวัญเมือง

รศ.ดร.ปิ่นมณี ขวัญเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาครุศาสตร์เกษตร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สจล.ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม กล่าวถึงประโยชน์ของสแน็กจากปลีกล้วยว่า 

“เป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี เหมาะสำหรับบริโภคทุกเพศทุกวัย โดยคุณค่าทางโภชนาการของสแน็กแผ่นจากปลีกล้วย 20 กรัม จะให้พลังงานเพียง 90 กิโลแคลอรี แต่โปรตีนสูงถึง 3.70 กรัม ไขมัน 3.90 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9.90 กรัม และไฟเบอร์ถึง 4.20 กรัม” 

สแน็กจากปลีกล้วย

รศ.ดร.ปิ่นมณี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสแน็กจากปลีกล้วยที่ทำขึ้นนี้เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ยังไม่มีการวางจำหน่าย อย่างไรก็ตามหากนักศึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มแม่บ้านใดสนใจที่จะนำไปต่อยอด รศ.ดร.ปิ่นมณี ยินดีให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการออกแบบสูตรสแน็กอื่น ๆ ให้ด้วยได้ โดยสามารถติดต่อมาได้ตามช่องทางด้านล่าง

ติดต่อคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี:

  • Facebook: https://www.facebook.com/siet.kmitl
  • เว็บไซต์:  https://siet.kmitl.ac.th

ติดต่อสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง:

  • Facebook: https://www.facebook.com/kmitlofficial  
  • เว็บไซต์:  https://www.kmitl.ac.th 
  • โทร: 02-329-8000

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ