นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยผลการสังเกตการณ์ในวันพฤหัสบดี ที่พบว่าลิงอุรังอุตังในป่าฝนเขตร้อนของอินโดนีเซียใช้สมุนไพรรักษาอาการบาดเจ็บ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการศึกษาแรกที่ค้นพบสัตว์ป่าใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาเพื่อรักษาแผล ตามการรายงานของรอยเตอร์
เหตุการณ์ที่นำมาซึ่งการศึกษาข้างต้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2022 เมื่อลิงอุรังอุตังสุมาตราชื่อ ราคัส นำพืชเถาวัลย์ที่ชื่อ อะการ์กูนิง ที่มีสรรพคุณระงับการอักเสบและฆ่าเชื้อมาเคี้ยว ก่อนที่จะคายออกมาและนำไปแปะที่แผลบนใบหน้า ซึ่งคาดว่าจะเกิดจากการต่อสู้กับลิงตัวอื่น
เหตุที่เกิดขึ้นในในพื้นที่ป่าฝนและศูนย์วิจัยซูอัก บาลิมบิง ประเทศอินโดนีเซีย ไปกระตุกความสนใจของเหล่านักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากราคัสนั้นสามารถรักษาบาดแผลตนเองในลักษณะที่มนุษย์แปะพลาสเตอร์ลงบนแผล อ้างอิงจากอิซาเบล เลาเมอร์ นักวานรวิทยาและนักชีววิทยาจากสถาบันพฤติกรรมสัตว์ แม็กซ์ แพลงค์ ประเทศเยอรนี ผู้มีบทบาทหลักในงานศึกษาดังกล่าว
เลาเมอร์กล่าวว่า นอกจากใช้พืชเป็นพลาสเตอร์สมานแผลแล้ว ราคัสยังกินพืชอะการ์กูนิง ซึ่งไม่ใช่อาหารที่ลิงอุรังอุตังแถวนั้นนิยมกิน
แคโรลีน ชุปพลี เจ้าของงานศึกษาอีกรายจากสถาบันแม็กซ์ แพลงค์ กล่าวว่า “เท่าที่เรารับรู้ นี่คือกรณีที่มีการบันทึกครั้งแรกของการรักษาแผลด้วยพืชที่มีสรรพคุณทางยาโดยสัตว์ป่า”
เลาเมอร์กล่าวว่าการรักษาแผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะจากการสังเกตการณ์ ก็พบว่าราคัสเพียรเคี้ยวพืชเพื่อนำของเหลวและกากใยออกมาทาแผลเป็นการเฉพาะ โดยไม่ไปทาที่ส่วนอื่นของร่างกายเลย
นักวิจัยหลายรายระบุว่า แผลบนใบหน้าของลิงอุรังอุตังตัวนี้ดีขึ้น และแผลปิดในเวลา 5 วัน โดยไม่มีสัญญาณของการติดเชื้อ
ชุปพลีกล่าวว่าการสังเกตการณ์ของทีมงาน บ่งชี้ถึงระดับสติปัญญาของอุรังอุตัง ที่มากพอที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมการรักษาแผลด้วยพืช ซึ่งคุณสมบัตินี้อาจมีอายุยาวนานพอ ๆ กับบรรพบุรุษของลิงอุรังอุตังและมนุษย์ที่เคยอยู่ในวงศ์เชื้อสายเดียวกัน
นักวิจัยจากสถาบันแม็กซ์ แพลงค์ระบุด้วยว่ายังมีอีกหลายคำถามที่ต้องศึกษากันต่อ เช่น ลิงอุรังอุตังสามารถใช้พืชรักษาแผลเป็นการทั่วไปหรือไม่ ลิงมีความเข้าใจในกระบวนการรักษาเยียวยาเพียงใด และการเริ่มใช้พืชอะการ์กูนิงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
คำว่า “อุรังอุตัง” มีความหมายว่า “คนของป่า” ในภาษาบาฮาซามาเลย์และอินโดนีเซีย เป็นสัตว์ในวงศ์ลิงใหญ่ ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยบนต้นไม้ที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุด และมีความเกี่ยวพันในทางพันธุกรรมกับมนุษย์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับลิงในวงศ์เดียวกันอย่างกอริลลาหรือลิงโบโนโบ