ขุดพบ “ซากบ้านโบราณ” ยุควัฒนธรรมหย่างเสา-อายุเก่าแก่กว่า 6,000 ปี
ขุดพบ “ซากบ้านโบราณ” – ซินหัว รายงานอีกความคืบหน้าทางประวัติศาสตร์จีน หลังจากคณะนักโบราณคดีจีนขุดพบฐานบ้านจำนวน 7 หลัง ในมณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของประเทศ และคาดว่ามีอายุเก่าแก่ราว 6,000 ปี
สถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนานระบุว่าฐานบ้านดังกล่าวถูกพบบริเวณ “ซากโบราณเป่ยหยางผิง” ในเมืองหลิงเป่า และสามารถสืบย้อนได้ถึง “ยุควัฒนธรรมหย่างเสาตอนกลาง” ซึ่งมีอายุย้อนไป 5,000-7,000 ปี เป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่มีต้นกำเนิดบริเวณตอนกลางของแม่น้ำเหลือง
รายงานระบุอีกว่าฐานบ้านที่พบมีหลายขนาด ฐานขนาดใหญ่สุดเป็นโครงสร้างกึ่งใต้ดินทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมโค้งมน ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ 172 ตารางเมตร และคาดว่าเดิมครอบคลุมพื้นที่เกือบ 250 ตารางเมตร
นายเว่ยซิง เทา รองผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่าบ้านขนาดใหญ่ในยุควัฒนธรรมหย่างเสาตอนกลางมีโครงสร้างและขั้นตอนการก่อสร้างที่สลับซับซ้อน ทั้งมีการออกแบบพิถีพิถัน การคำนวณที่แม่นยำ และการจัดการการก่อสร้างที่เข้มงวด พร้อมเสริมว่าเทคนิคทางสถาปัตยกรรมในยุคนั้นค่อนข้างก้าวหน้าแล้ว
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบงานไม้สภาพสมบูรณ์จำนวนมากที่ฐานบ้านขนาดใหญ่อีกแห่ง ซึ่งนายเว่ยระบุว่าหาพบได้ยากมากในโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ “การค้นพบบ้านขนาดใหญ่ในยุควัฒนธรรมหย่างเสาถือเป็นการสนับสนุนการศึกษาประเภทการออกแบบและเทคนิคการก่อสร้างบ้านในโบราณ ควบคู่กับการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการสำรวจโครงสร้างทางสังคมและอารยธรรมของยุควัฒนธรรมหย่างเสา” นายเว่ยกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ซาก “ยุคมนุษย์โฮมินิด” อายุกว่า 13,200 ปีในชานตง เผยพฤติกรรม “กินกวาง-นก”
- ตะลึงพบ “ซากประตูลับ” กว่า 130 บานบนกำแพงเมืองจีน คาดเป็นช่องทางสอดแนม