หลายปีก่อนบางคนอาจจะเคยได้ยินหรือได้อ่านข่าวที่ส่งต่อๆ กันมาว่า มีคนที่เคยเสียชีวิตจากอาการติดเชื้อในปอด โดยมีสาเหตุมาจากขนของสัตว์เลี้ยงอย่างหมาหรือแมวเข้าไปในปอด เรื่องนี้อาจทำให้หลายครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยงมีขนอาศัยอยู่ภายในบ้านมีความวิตกกังวลได้ แต่จริงๆ แล้ว ขนสัตว์สามารถเข้าไปในปอดของมนุษย์ได้จริงๆ หรือ
ขนสัตว์ เข้าปอดได้?
จริงๆ แล้วหากลองคิดเองก่อน จะพบว่า เมื่อเราหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกาย ต้องผ่านรูจมูกที่ขนจมูกเป็นปราการแรกที่จะกรองเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหลอดลม การหายใจเอาขนสัตว์เข้าไปในปริมาณมากจนทำให้เกิดอาการติดเชื้อ จึงน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีกระบวนการป้องกันสิ่งแปลกปลอมของร่างกายอื่นๆ อีกมากมาย กว่าที่สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นจะเดินทางไปสู่ปอดได้
กลไกในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู้ร่างกาย ผ่านการหายใจ
- ขนจมูก ช่วยกรองเอาฝุ่นละออง ฟูมโลหะขนาดใหญ่ไม่ให้เข้าไปในหลอดลม (ฟูมโลหะ คือ อนุภาคของโลหะเล็กมากๆ พบได้ในงานเชื่อม หลอมโลหะ งานบัดกรี)
- ซิเลีย เป็นขนขนาดเล็กที่บุอยู่ในระบบทางเดินหายใจ ช่วยดักจับฝุ่นละออง โลหะขนาดเล็ก ก่อนลงไปในระบบทางเดินหายใจโดยการกลืน กิน หรือไอ
- เยื่อเมือก บุอยู่ทั่วไปตามส่วนต่างๆ ของทางเดินหายใจ ช่วยดักจับฝุ่นละออง และฟูมโลหะขนาดเล็ก
- ไอ จาม เป็นการกำจัดฝุ่นละออง ฟูมโลหะขนาดเล็กที่เข้ามาถึงขั้วปอดออกจากร่างกายได้อย่างทันท่วงที
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะมีขนสัตว์ที่เป็นสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะสามารถเข้าไปสะสมอยู่ในปอด จนทำร้ายร่างกายจนถึงขั้นติดเชื้อ และเสียชีวิตได้ สิ่งแปลกปลอมที่สามารถหลุดเข้ามาในปอดได้ ต้องมีขนาดเล็กมากๆ จนแทบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือมีขนาดเล็กกว่า 3-5 ไมครอนเท่านั้น
ทำไมถึงมีอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรงกับขนสัตว์?
อาการภูมิแพ้รุนแรงที่เกิดขึ้นจากการดม หรืออยู่ใกล้ขนสัตว์ ไม่ได้เป็นเพราะขนสัตว์เข้าไปในปอด แต่อาจเป็นเพราะสูดอากาศเอาพวกโปรตีน เศษเซลล์ที่ติดมากับขนสัตว์เข้าไปในปอดมากกว่า ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการภูมิแพ้ตามปกติ มีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน
วิธีป้องกันอาการภูมิแพ้จากขนสัตว์
เมื่อรู้สึกถึงอาการผิดปกติของร่างกายเมื่ออยู่ใกล้สัตว์เลี้ยง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในการหาทางรักษา เมื่ออาการภูมิแพ้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น บางคนมีผื่นขึ้นเต็มตัว หรือบางคนอาจจะผมร่วง หรือบางคนอาจจะคันที่ผิวหนังเล็กน้อย วิธีที่ใช้รักษาก็ไม่เหมือนกัน มีตั้งแต่การทำความสะอาดบ้าน กำจัดขนสัตว์ภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอทุกวัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งสะสมของขนสัตว์ เช่น พรมต่างๆ ไปจนถึงการทานยาควบคุมอาการแพ้ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ไม่ควรเริ่มต้นจากการทิ้งสัตว์เลี้ยงให้เป็นภาระของสังคม หากเราเริ่มเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นแล้ว เราควรรับผิดชอบชีวิตของเขาให้ดีตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่พวกเขาอยู่กับเรา ถ้าอาการหนักมากจนไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้จริงๆ ก็ควรประกาศขอเจ้าของใหม่มารับไปเลี้ยงจะดีกว่า