ก้าวไกลดาหน้าอัด ชัยวุฒิ ปมควบรวมทรู-ดีแทค เผยเกาหลีเหนือก็ให้บริการรายเดียว ชี้มองแต่ด้านมิตินายทุน ไม่ปกป้องประชาชน ยิ่งผูกขาด คนยิ่งเดือดร้อน
วันที่ 24 พ.ย.2564 นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณถึงกรณีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) บริษัทแม่กลุ่มทรู และกลุ่มเทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันว่า ในเอเชีย มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่มีผู้ให้บริการรายเดียว ประเทศแรกที่เป็นต้นแบบของรัฐบาลไทย คือ ประเทศเกาหลีเหนือ ที่มีผู้ใช้มือถือเพียง 3.8 ล้านราย จากประชากร 26 ล้านราย
ส่วนประเทศที่สอง คือ หมู่เกาะโซโลมอน ที่มีประชากร 700,000 คน นอกจากนี้ยังมี 4 ประเทศในยุโรปที่มีผู้ให้บริการเพียงเจ้าเดียว เช่น อันดอร์รา ที่มีประชากร 77,265 คน ยิบรอลตาร์ ที่มีประชากร 33,691 คน โมนาโก ที่มีประชากร 39,244 คน และ ซานมารีโน ที่มีประชากร 33,938 คน
ประเทศไทยมีประชากร 69 ล้านคน ตลาดโทรคมนาคมก็มีมูลค่าปีนึงกว่า 6 แสนล้านบาท ถ้าไม่คิดจะปกป้องประโยชน์ของประชาชนคนที่เสียภาษีเป็นเงินเดือนให้รัฐบาลที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากการผูกขาด อย่างน้อยก็อย่าถือหางกลุ่มทุนจนออกนอกหน้าขนาดนั้น เดี๋ยวประชาชนจะสับสนว่า รัฐบาลนี้ทำงานเพื่อประชาชนหรือเพื่อกลุ่มทุนกันแน่
ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเดียวกันนี้ ว่า การที่รมว.ดีอีเอส กล่าวว่าการควบรวมบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือยักษ์ใหญ่ 2 เจ้าไม่ได้อยู่ในอำนาจการกำกับดูแลของตนและการควบรวมครั้งนี้เป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นว่ารัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้มองเห็นแต่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุน แต่ไม่เคยรู้จักหน้าที่ของตนเองว่ารัฐบาลมีหน้าที่ป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน
เชื่อว่ากรณีนี้ นายชัยวุฒิ ที่จบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ คงจะคำนวณค่าดัชนีการผูกขาดตลาด เฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) เป็นอยู่แล้ว คงไม่ต้องให้ใครมาสอนวิธีการคำนวณให้ และควรต้องรู้อยู่แล้วว่าการควบรวมกิจการเครือข่ายโทรคมนาคมนั้นเป็นหน้าที่ที่รัฐมนตรีดีอีเอสต้องเข้าไปตรวจสอบดูแล ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยอย่างนี้
ป้ายชื่อกระทรวงด้านท้ายที่ระบุว่าเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็น่าจะผ่านตานายชัยวุฒิบ้างอยู่แล้ว
หากพิจารณาจากพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ในข้อที่ 12 ก็ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะคำนวณอย่างไร ค่าดัชนี HHI ก่อนการควบรวมก็มีค่ามากกว่า 2,500 ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว
ดังนั้นหากปล่อยให้มีการควบรวมดัชนีการผูกขาดตลาดก็จะทะลุไปถึงหลัก 5,000 กันเลยทีเดียว การเปลี่ยนแปลงของดัชนี HHI ขนาดนี้ ย่อมส่งผลทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมภายในประเทศมีการแข่งขันที่ลดลง มีสภาพที่ผูกขาดมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อค่าบริการ และคุณภาพบริการโทรคมนาคมกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ต่างๆ ไม่มากก็น้อยแน่ๆ
การที่นายชัยวุฒิให้สัมภาษณ์ว่า ธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้ให้บริการหลายเจ้าไม่ได้ หากมีหลาย ๆ เจ้า ต่างคนต่างลงทุนอาจเป็นการสิ้นเปลืองก็ได้ ทำให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้น ถือเป็นการสะท้อนว่า นายชัยวุฒิมองแต่มิติของนายทุนเท่านั้น ไม่ได้ห่วงใยในความเดือดร้อนประชาชนเลย
เพราะถ้าการแข่งขันลดลง มีสภาพผูกขาดมากขึ้น นายทุนก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนปรับปรุงระบบเครือข่าย หรือพัฒนาระบบการให้บริการอะไรมากนัก คู่แข่งขันที่มีอยู่อีกแค่รายเดียว ก็ไม่ยากที่จะแบ่งเค้กกันโขกราคากับประชาชน
เมื่อถึงจุดนั้นประชาชนก็จำต้องยอมใช้บริการที่คุณภาพต่ำ ในราคาแพงอย่างไม่มีทางเลือก ในขณะที่นายทุนที่ก็จะกลายเป็นเสือนอนกินที่รวยเอาๆ
สภาพการแข่งขันในตลาดที่ลดลง ตลาดมีการผูกขาดมากขึ้น นายทุนมีแต่จะได้เปรียบ ผู้บริโภคมีแต่จะเสียเปรียบ เรื่องนี้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาก็ยังเข้าใจ นายชัยวุฒิก็น่าจะเข้าใจอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ไม่เข้าใจว่าทำไมนายชัยวุฒิถึงให้สัมภาษณ์อย่างนั้น หากรมว.ดีอีเอสและรัฐบาล ยังคงปล่อยปละละเลยแบบนี้ หากในอนาคตเกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะขึ้น ย่อมต้องถือว่านายชัยวุฒิและรัฐบาลนี้ จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่