การคอร์รัปชัน ไม่เคยเป็นเรื่องที่ดีของสังคม โดยเฉพาะหากกู้เงิน แบ่งงบประมาณมาใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เอาแต่สร้างหนี้ ใช้เงินเกินตัว ไม่รู้จักการบริหารทุนอย่างเหมาะสม มีแต่ความเดือดร้อนที่มาเยือน ซึ่งส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้กู้ แต่รวมถึงคนรอบข้าง
ปัญหาการกู้เงิน และคอร์รัปชันภาษีประชาชน จนเดือดร้อนทั้งบ้านทั้งเมือง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเวทีการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงโลกฟุตบอลที่เคยมีบทเรียนสำคัญมาแล้ว กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ โอลิมปิก มาร์กเซย สโมสรชื่อดังจากประเทศฝรั่งเศส
ปี 1993 มาร์กเซยก้าวขึ้นเป็นทีมฟุตบอลเบอร์ 1 ของโลกในฐานะแชมป์ฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่ และแชมป์สูงสุดของฝรั่งเศสเป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน
เพียงแค่ 1 ปีถัดมา ทุกอย่างที่สโมสรนี้สร้างมา พังทลายลงไปกับตา เพราะเจ้าของทีม ถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชัน นำภาษีประชาชน ที่ควรถูกใช้บริหารประเทศ เอามาสร้างความสำเร็จ ให้กับสโมสรฟุตบอลส่วนตัว
ติดตามเรื่องราวการขึ้นสู่จุดสูงสุด และดิ่งลงต่ำสุดของ โอลิมปิก มาร์กเซย จาก ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง นักเขียน Main Stand
นักธุรกิจจอมบ้าดีเดือด
หากจะเลือกชายสักคนที่ทรงอิทธิพลในประเทศฝรั่งเศส ช่วงยุค 80s ต้องมีชื่อของ “แบร์กนาร์ ตาปี” ผู้เป็นทั้ง นักธุรกิจ, นักการเมือง, นักแสดง, พิธีกร, เจ้าของทีมจักรยาน, คนขี้โม้ จนถึงบุคคลที่ถูกคนทั้งประเทศเหม็นขี้หน้า
แบร์กนาร์ ตาปี เติบโตมาจากครอบครัวแรงงานสุดยากจน แต่เขาไต่เต้าจนกลายเป็นนักธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ทั้งที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ แต่สิ่งที่มีคือสกิลในการปลุกปั้นธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ รู้จักเข้าหาผู้มีอำนาจในสังคม และสร้างคาแรคเตอร์ของตัวเองให้โดดเด่น
ตาปีถูกจดจำในฐานะ นักธุรกิจ และนักการเมือง จอมปากดี มีสกิลขี้โม้ ชอบพูดโอ้อวดความรวยของตัวเอง แต่สิ่งที่ทำให้เขาทำแบบนี้ คือความสามารถในการทำธุรกิจ ที่ไม่ว่าจะจับสิ่งใด ก็กลายเป็นเงินเป็นทองไปหมด
ความบ้าดีเดือดของตาปี ทำให้เขากล้าลงทุนกับทุกธุรกิจ โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมทั้งนั้น รวมถึงวงการกีฬาที่เขาเริ่มจากการทำทีมจักรยาน La Vie Claire (ซึ่งก็คือชื่อธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของเจ้าตัวนั่นเอง) แข่งขันในรายการ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ก่อนจะพาทีมของเขา คว้าแชมป์ในรายการนี้ 2 สมัยซ้อน เมื่อปี 1985 และ 1986
หลังจากเริ่มประสบความสำเร็จในวงการสองล้อ นักธุรกิจใหญ่เริ่มชายตามาที่เกมฟุตบอล กีฬาอันดับหนึ่งของชาวฝรั่งเศส ซึ่งแม้จะไม่มีความรู้ด้านเกมลูกหนัง เพราะชีวิตนี้แทบไม่เคยดูฟุตบอล แต่ตาปีไม่กลัวอยู่แล้ว เขาเดินหน้าเทคโอเวอร์สโมสร โอลิมปิก มาร์กเซย ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 1985
ต้องเล่าว่า แนวทางการทำธุรกิจของ แบร์กนาร์ ตาปี จะชื่นชอบเทคโอเวอร์บริษัทที่ดูไม่มีอนาคต เพื่อที่จะได้ซื้อมาในราคาถูก แต่แท้จริงแล้วธุรกิจที่เขาไปคว้ามา ส่วนใหญ่มีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจ พอถูกอัดฉีดเงินก้อนโตเข้าไป จึงประสบความสำเร็จ พลิกชะตาสร้างรายได้ให้นักลงทุนรายนี้มาหลายครั้ง
จึงเป็นเหตุผลที่ตาปี ชายตามาหา โอลิมปิก มาร์กเซย สโมสรฟุตบอลเก่าแก่ของฝรั่งเศส เคยเกรียงไกรในยุค 70s กับการคว้าแชมป์ ลีกเอิง 2 สมัย และแชมป์ เฟรนช์ คัพ 2 สมัย แต่ตกชั้นสู่ ลีกเดอซ์ ทันทีที่เข้าสู่ยุค 80s ก่อนที่จะกลับมาสู่ลีกสูงสุดได้อีกครั้ง ในปี 1984
มาร์กเซยจึงกลายเป็นทีมเข้าตำราธุรกิจของตาปี ก่อนจะจัดการปิดดีล เทคโอเวอร์สโมสรมาเป็นของตัวเองได้สำเร็จ เมื่อเดือนเมษายน ปี 1986 พร้อมกับประกาศกร้าวตามสไตล์คนปากดีว่า “เขาจะพามาร์กเซยเป็นแชมป์ฝรั่งเศส และก้าวไปคว้าแชมป์ยุโรปให้ได้”
แชมป์เท่านั้นที่ต้องการ
“Make OM Great Again” เป็นเสมือนกับแคมเปญของตาปีในการทำทีมฟุตบอล สโมสรแห่งนี้จะต้องกลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีต อีกทั้งด้วยนิสัยเกลียดความพ่ายแพ้ ยิ่งทำให้นักธุรกิจรายนี้พร้อมทุ่มสุดตัว กับการทีมทีมฟุตบอล ไม่ให้ใครมาดูถูกว่าเป็นพวกไก่อ่อนไร้น้ำยา
มาร์กเซยจบฤดูกาล 1985–86 ด้วยอันดับ 12 แสดงถึงขุมกำลังที่ไม่ดีพอกับการลุ้นแชมป์ แต่ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป หลังจากได้ตาปีมาเป็นเจ้าของทีม เขาฟาดเงินซื้อตัว คาร์ล-ไฮนซ์ ฟอสเตอร์ อดีตนักเตะยอดเยี่ยมของเยอรมันตะวันตก มาจาก สตุตการ์ท, อแลง ฌีแรส อดีตนักเตะยอดเยี่ยมของประเทศฝรั่งเศส 2 สมัย มาจาก บอร์กโดซ์ รวมถึงกองหน้าเนื้อหอมวัย 22 ปี อย่าง ฌอง ปีแอร์ ปาแปง มาจาก คลับ บรูช ในประเทศเบลเยียม
เพียงแค่ปีแรก แบร์กนาร์ ตาปี ซื้อนักเตะหน้าใหม่เข้าสู่ทีมถึง 12 คน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากมาร์กเซยจะพัฒนาแบบก้าวกระโดด ขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ของตาราง ในฤดูกาลแรกที่เข้ามาเป็นเจ้าของทีม
แต่สำหรับคนอย่างตาปี แชมป์เท่านั้นที่เขาต้องการ ฤดูกาลถัดไปนักธุรกิจใหญ่จึงจัดให้แบบหนัก ๆ ซื้อนักฟุตบอลอีก 10 ราย เข้าสู่สโมสร ซึ่งรวมถึงการดึงผู้เล่นจากทีมคู่ปรับอย่าง ปารีส แซงต์ แชร์กแมง นั่นคือ วิลเลียม อายาเช แบ็คซ้ายดีกรีทีมชาติฝรั่งเศส
การดึงตัวอายาเชข้ามมา ถือเป็นเรื่องใหญ่ของวงการฟุตบอลแดนน้ำหอมในเวลานั้น เพราะเปแอสเช คือทีมที่มาแรงสุด ในยุค 80s และเพิ่งฉลองคว้าแชมป์ลีกเอิงสมัยแรกในประวัติศาสตร์ แต่กลับมาเสียงผู้เล่นตัวหลัก ให้กับเงินอันหอมหวานของตาปี
อย่างไรก็ตาม ผลงานของทีมกลับแย่กว่าเดิม หล่นไปจบอันดับ 6 ของตาราง ซึ่งถึงจะล้มเหลว แต่คนอย่าง แบร์กนาร์ ตาปี เสียชื่อไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ ฤดูกาลถัดมา เขาเซ็นนักเตะอีก 10 คนเข้าสู่สโมสร หนึ่งในนั้นคือกองหน้าดาวรุ่งที่ชื่อ เอริค คันโตนา
รอบนี้พลังเงินของตาปีเป็นผล เขาคว้าทั้งแชมป์ ลีกเอิง และแชมป์ เฟรนช์ คัพ ในฤดูกาล 1988-89 แต่ตราบใดที่ยังเห็นทีมพ่ายแพ้ ผู้ชายคนนี้ก็ไม่เคยพอใจ
แม้จะประสบความสำเร็จกับบอลในประเทศ แต่มาร์กเซยต้องไปตกม้าตาย กับเวทีบนยุโรป ฤดูกาล 1987-88 พวกเขาจบเส้นทางในถ้วย คัพ วินเนอร์ส คัพ (ได้เข้าไปแข่งแทน บอร์กโดซ์ ที่คว้าดับเบิลแชมป์ปีนั้น จากการเป็นรองแชมป์ เฟรนช์ คัพ) เพียงรอบรองชนะเลิศ ด้วยการพ่าย อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม
ด้วยเหตุนี้ตาปีจึงจัดนักเตะใหม่เสริมทัพมาอีก 10 คน และคราวนี้คัดมาแต่ของแท้ล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็น คริส วอดเดิล กลางรุกชาวอังกฤษ ด้วยราคาสถิติสโมสร 4.5 ล้านปอนด์ (แพงเป็นอันดับ 3 ของโลก ณ เวลานั้น), เอ็นโซ ฟรานเชสโคลี อัจฉริยะลูกหนังชาวอุรุกวัย, ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ กองกลางจอมขยันวัย 20 ปี, คาร์ลอส โมเซอร์ กองหลังชาวบราซิล รวมถึง มานูเอล อาโมรอส แบ็คขวาชาวฝรั่งเศส ดีกรีทีมยอดเยียมฟุตบอลโลก
การทุ่มเงินไม่อั้นของ แบร์กนาร์ ตาปี ส่งให้ โอลิมปิก มาร์กเซย คว้าแชมป์ลีกเอิง 5 สมัยติดต่อกัน ในช่วงปี 1989 ถึง 1993 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีสโมสรฟุตบอลฝรั่งเศสทีมไหน ทำได้แบบนี้มาก่อน
จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุด
ชีวิตของ แบร์กนาร์ ตาปี ขาขึ้นสุดขีด นอกจากจะทำทีมฟุตบอลประสบความสำเร็จแล้ว เขาไปไกลจนถึงขั้นกลายเป็นเจ้าของ “อาดิดาส” แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาชื่อดังของประเทศเยอรมัน ซึ่งเจ้าตัวก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในปี 1990
เท่านั้นยังไม่พอ ตาปีใช้ความสำเร็จกับการทำมาร์กเซย เป็นใบเบิกทางจนเขามีที่นั่งในสภาของรัฐบาลฝรั่งเศส ในปี 1989 และก้าวขึ้นเป็น รัฐมนตรีกระทรวงท้องถิ่นของฝรั่งเศส ในปี 1992
แบร์กนาร์ ตาปี เหมือนจะประสบความสำเร็จทุกอย่างในชีวิต ยกเว้นสิ่งเดียวคือการคว้าแชมป์ฟุตบอลยุโรป ทั้งการตกรอบรองชนะเลิศ ในปี 1990 ด้วยน้ำมือของ เบนฟิกา จากโปรตุเกส
และการแพ้ในรอบชิงชนะเลิศ ปี 1991 ให้กับ เรด สตาร์ เบลเกรด ทีมจากยูโกสลาเวีย (เซอร์เบีย ในปัจจุบัน) ที่เรียกได้ว่าชื่อชั้นนักเตะ อยู่คนละระดับกับมาร์กเซย ความพ่ายแพ้ทั้งหมดเหมือนทำให้นักธุรกิจรายนี้ตายทั้งเป็น เพราะฝันที่เขาหวังไว้ ไปไม่ถึงเสียที
“ตาปีไม่เคยอยากให้สโมสรนี้เป็นเหมือนทีมไหน เขาไม่เคยต้องการให้คนภายนอกมองว่า นี่คือทีมฟุตบอลที่ไม่ได้ต่างจากทีมอื่น” รูดี โฟลเลอร์ กองหน้ารายใหม่แกะกล่องชาวเยอรมัน ที่ย้ายมาอยู่กับมาร์กเซย ในปี 1992 เพื่อเหตุผลเดียวคือการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ
ในสายตาของ แบร์กนาร์ ตาปี เขาเชื่ออย่างยิ่งว่า การได้แชมป์ฟุตบอลยุโรป เปรียบเสมือนการยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกฟุตบอล หากคว้าแชมป์นั้นมาได้ จะไม่มีใครมอง โอลิมปิก มาร์กเซย เป็นแค่สโมสรตัวแทนจากฝรั่งเศส แต่คือการประกาศว่า นี่คือทีมที่ดีที่สุดในโลก
ฤดูกาล 1992-93 คือปีที่สร้างความงุนงงให้กับแฟนมาร์กเซยมากที่สุด เพราะทีมได้ขายกองหน้าขวัญใจแฟนบอล ฌอง ปิแอร์ ปาแปง ดีกรีแข้งเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ปี 1991 ไปให้ เอซี มิลาน เพื่อแลกกับเงิน 10 ล้านปอนด์ อันเป็นค่าตัวสถิติโลก ณ เวลานั้น
รวมถึง คริส วอดเดิล, คาร์ลอส โมเซอร์ สองผู้เล่นตัวหลัก ก็ถูกขายทิ้ง และงงที่สุดคือการขาย เทรเวอร์ สตีเวน ปีกฟอร์มแรงชาวอังกฤษ ไปให้ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ทีมดังจากสกอตแลนด์ ด้วยราคาขาดทุนยับเยิน 2.2 ล้านปอนด์ ที่เพิ่งซื้อมาร่วมทีมเมื่อฤดูกาลก่อนหน้า ในราคา 5.5 ล้านปอนด์ ถือว่าเป็นค่าตัวแพงที่สุดของนักเตะอังกฤษ ในเวลานั้น
ปี 1992 คือจุดเริ่มต้นที่ทุกคนได้รู้ว่า เงินซื้อนักเตะอย่างบ้าคลั่งที่ถูกใช้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาโดยมาร์กเซย ไม่ใช่เงินของ แบร์กนาร์ ตาปี แต่เป็นเงินที่เขาไปกู้จากธนาคาร มาลงทุนกับสโมสรแห่งนี้
ขึ้นชื่อว่าทำทีมฟุตบอล มีแต่ขาดดุล กับเท่าทุนเพียงสองอย่าง ในกรณีที่ใช้เงินไม่ดูตาม้าตาเรือแบบโอแอม ย่อมทำให้สโมสรเข้าสู่ภาวะขาดทุนอย่างหนัก การขายนักเตะชื่อดังออกจากทีม กลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ระดับ แบร์กนาร์ ตาปี ถ้าไม่ได้แชมป์ยุโรปสักครั้งในชีวิต เขาคงไม่มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จในฐานะเข้าของทีมฟุตบอล ดังนั้นเขาจึงเซ็นผู้เล่นอีก 11 ราย เข้าสู่ทีมในฤดูกาล 1992-93 ทั้งที่สถานการณ์การเงินของสโมสรกำลังย่ำแย่
เรียกว่าเป็นการเดิมพันครั้งสุดท้ายของตาปีคงไม่ผิดนัก เขารูู้ตัวดีว่าสถานะความมั่นคงของเขา กำลังจะหมดไป นี่คือปีสุดท้ายที่เขาจะได้เป็นหัวเรือใหญ่ของมาร์กเซย ดังนั้นเขาจะทำทุกทางเพื่อให้ โอลิมปิก มาร์กเซย คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ ภายในปี 1993
Double or Nothing
หากจะหาเหตุผลที่มาร์กเซยไปไม่ถึงฝัน ในการคว้าแชมป์ฟุตบอลยุโรปเสียที เพราะมีต้นเหตุมาจากการแข่งขันอันดุเดือดของฟุตบอลลีกเอิง ฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าทัพโอแอมจะแข็งแกร่งกว่าทีมอื่นชัดเจน คว้าแชมป์ได้หลายปีติดต่อกัน แต่พวกเขาไม่เคยทำแต้มเหนืออันดับ 2 ได้แบบขาดลอย (ช่องว่างคะแนนระหว่างมาร์กเซยกับรองแชมป์ ในช่วงที่โอแอมคว้าแชมป์ลีก มากสุดแค่ 6 คะแนน ในฤดูกาล 1991-92) เพราะ โมนาโก และ เปแอสเช ล้วนสู้จนหยดสุดท้าย หวังคว้าแชมป์ลีกมาครองให้ได้เช่นกัน
นักเตะมาร์กเซยต้องเสียพลังไปมาก กับฟุตบอลในประเทศ และบอลยุโรป เปรียบเสมือนการจับปลาสองมือ ซึ่งสุดท้ายปลาตัวใหญ่ที่ชื่อ บอลยุโรป ก็หลุดมือพวกเขาไปทุกที
ท้ายฤดูกาล 1992-93 ทุกอย่างกำลังจะมาลงล็อคเดิมอีกครั้ง มาร์กเซยได้เข้าชิง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก (ปีแรกที่เปลี่ยนชื่อจาก ยูโรเปี้ยน คัพ) เจอกับของแข็งอย่าง เอซี มิลาน แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น พวกเขาต้องป้องกันแชมป์ลีกเอิงให้ได้เสียก่อน
ประเด็นคือ มาร์กเซยมีเกมนัดสำคัญในวันที่ 20 พฤษภาคม 1993 เจอกับ วาลองเซียนส์ ซึ่งหากเอาชนะได้ พวกเขาจะคว้าแชมป์ลีกเอิง ได้เป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน
หากแต่ 6 วันหลังจากนั้น มาร์กเซยต้องเล่นเกมนัดชิงยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก กับ เอซี มิลาน ซึ่งนำไปสู่โจทย์ในหัวของ แบร์กนาร์ ตาปี ว่าเขาจะทำอย่างไรให้ลูกทีมของเขาคว้าแชมป์ลีกโดยไม่ต้องเสียแรงมาก ฟิตเต็มร้อยพร้อมที่จะไปล่าแชมป์ยุโรป ในอีก 6 วันข้างหน้า
สุดท้ายแล้ว แบร์กนาร์ ตาปี เลือกวิธีล้มบอล … เขาทำการติดต่อนักเตะบางคนของ วาลองเซียนส์ ให้ช่วยเล่นบอลแบบออมแรง ไม่ต้องเอาจริงกับลูกทีมของเขา เพื่อส่งมาร์กเซยคว้าแชมป์ลีกเอิง แบบสบายไม่เปลืองแรง พร้อมลุย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบชิงชนะเลิศ
นักเตะของวาลองเซียนส์ 2 ราย ตัดสินใจรับเงินจากตาปี นำมาซึ่งชัยชนะของมาร์กเซย ทำให้พวกเขาคว้าแชมป์ลีกเอิงได้เป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน
แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการที่ นักเตะของ โอลิมปิก มาร์กเซย มีสภาพร่างกายที่เต็มร้อย พร้อมลุยกับ เอซี มิลาน และสามารถพลิกล็อค เชือดทีมดังจากอิตาลี ด้วยสกอร์ 1-0 คว้าแชมป์ยุโรปที่รอคอยมานานได้สำเร็จ
นี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลยุโรป เพราะมาร์กเซยกลายเป็นทีมแรกจากฝรั่งเศส ที่คว้าถ้วยแชมป์ใบใหญ่มาครอง เป็นทีมแรกที่ชนะการแข่งขันในชื่อรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ความล้มเหลวทั้งหมดที่พวกเขาไม่เคยก้าวผ่าน วันนี้ทุกอย่างได้จบลงแล้ว
โอลิมปิก มาร์กเซย ได้ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกลูกหนัง ตามความต้องการของ แบร์กนาร์ ตาปี แม้ว่าจะเกิดขึ้น และคงอยู่แค่ช่วงพริบตาเดียวก็ตาม
อาณาจักรล่มสลาย
การคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก คือช่วงเวลาที่ถูกจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรแห่งนี้ รวมถึงความสำเร็จสูงสุดของชายชื่อ แบร์กนาร์ ตาปี
ชายผู้นี้ฉลองอย่างสุดเหวี่ยง ไม่ห่วงภาพลักษณ์เจ้าของสโมสร เพราะนี่คือแชมป์ที่เขาฝันมาตลอด เหมือนเด็กที่ได้ของเล่นในฝัน เขามีความสุขจนเหมือนไม่อยากให้ช่วงเวลานี้ต้องจบลง
เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่นาน ตาปีถูกเด้งออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องด้วยปัญหาด้านคอร์รัปชันยาวยืด ตัวเขาเองถูกสอบจากที่มาของเงินซึ่งไม่ขาวสะอาด รวมถึงหนี้สินท่วมตัวที่กู้มาจากธนาคาร เพื่อมาใช้บริหารทีมฟุตบอล
เท่านั้นยังไม่พอ เรื่องว่าจ้างล้มบอลของมาร์กเซยถูกเปิดเผยออกมา หลังจากที่มาร์กเซยคว้าแชมป์ เพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น หลังนักเตะวาลองเซียนส์ที่ทำการล้มบอล ได้ให้การรับสารภาพถึงเรื่องที่เกิดขึ้น
สำหรับตาปี เขาโชคดีที่ไม่โดนข้อหาในคดีนี้ เพราะไม่มีหลักฐานมามัดตัว เนื่องจากเช็คที่จ่ายเงิน ถูกเซ็นจ่ายด้วยชื่อของคนอื่น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารมาร์กเซยต้องติดคุกกันเป็นแถว ด้วยข้อหาทุจริต ขณะที่มาร์กเซยถูกยึดแชมป์ลีกในปี 1992-93 ส่งผลให้แชมป์ 5 สมัยซ้อนที่ควรจะเกิดขึ้น เหลือเพียง 4 สมัยเท่านั้น โชคยังดี ที่แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ครั้งประวัติศาสตร์ ไม่ถูกยึดไปด้วย เพราะการล้มบอลเกิดขึ้นกับลีกภายในประเทศ ไม่ใช่ในเกมยุโรป
เข้าสู่ปี 1994 แบร์กนาร์ ตาปี ถูกฟ้องล้มละลาย เนื่องจากการกู้เงินมาใช้ทำธุรกิจแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ ถูกบังคับให้ขายบริษัท อาดิดาส เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ที่เขาติดไว้กับธนาคาร
แต่ที่หนักที่สุดคือ ตาปีถูกศาลฟ้องด้วยคดีคอร์รัปชัน จากช่วงเวลาที่เขามีตำแหน่งอยู่ในรัฐบาลฝรั่งเศส ด้วยปัญหาการฉ้อโกงเงินประชาชนของนักธุรกิจรายนี้ ทำให้เขาถูกสมาพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส สั่งสอบสวนว่าได้ใช้ ภาษที่ประชาชนจ่ายให้รัฐบาล มาใช้บริหารธุรกิจเอกชนของตัวเองหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะทางการเงินตัวแดงของมาร์กเซย สืบเนื่องมาจากปัญหาล้มละลายของตาปี ทำให้สโมสรแห่งนี้ไม่อยู่ในสภาวะที่จะดำเนินกิจการ ภายใต้ชื่อของ แบร์กนาร์ ตาปี ได้อีกต่อไป
โอลิมปิก มาร์กเซย จึงถูกลงโทษด้วยการปรับตกชั้นสู่ลีกเดอซ์ของฝรั่งเศส ในฤดูกาล 1994-95 แม้ว่าปีก่อนหน้าจะคว้าตำแหน่งรองแชมป์ของลีกเอิงมาก็ตาม ขณะที่ แบร์กนาร์ ตาปี ถูกบังคับให้ขายทีม ปิดฉากยุครุ่งเรืองของสโมสรไว้เพียงเท่านี้
สำหรับ แบร์กนาร์ ตาปี เขาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงจากคดีคอร์รัปชัน ทำให้ต้องเข้าไปติดคุก เป็นระยะเวลา 2 ปี
เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้สอนว่า ความสำเร็จ ผลประโยชนต่าง ๆ หอมหวานมากแค่ไหนในโลกฟุตบอล จนทำให้ผู้ชายคนหนึ่งยอมทุ่มเงินแบบหน้ามืดตามัว เพื่อให้ได้มาครอบครอง แม้กระทั่งโกงภาษีประเทศเอามาใช้ ในการสร้างความสำเร็จ
หากแต่สุดท้ายแล้ว ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าความยั่งยืนในการทีมฟุตบอล การกู้หนี้ยืมเงินมาใช้บริหารองค์กร อย่างไม่รู้จักประมาณตน ไม่เคยเป็นเรื่องดี รวมถึงในวงการลูกหนัง เพราะสุดท้ายทุกคนที่เดือดร้อน คือคนที่รักในสโมสรที่ชื่อ โอลิมปิก มาร์กเซย
กลางปี 1993 โอลิมปิก มาร์กเซย ขึ้นสู่จุดสูงสุดของโลกฟุตบอล ในฐานะแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก … กลางปี 1994 โอลิมปิก มาร์กเซย ลงสู่จุดต่ำสุดด้วยการถูกปรับตกชั้น จากความไม่ใสสะอาด ในการบริหารทีม
การคว้าแชมป์ยุโรปของมาร์กเซย ควรถูกจำในฐานะแชมป์ที่มีความหมาย ไม่ใช่แชมป์ที่เปื้อมมลทิน และแฟนบอลโอแอมควรได้มีเวลาชื่นชมกับความสำเร็จของทีมได้อย่างภาคภูมิใจมากกว่านี้