“กินเผ็ด” บ่อยๆ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

Home » “กินเผ็ด” บ่อยๆ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
“กินเผ็ด” บ่อยๆ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

“รสเผ็ด” บางคนอาจเคยทราบว่า “เผ็ด” ไม่ใส่รสชาติ แต่เป็นความทรมานที่รับรู้ได้จากสารประกอบบางอย่างในพริก แต่ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับว่าอาหารรสเผ็ดเป็นที่โปรดปรานของใครหลายคน โดยเฉพาะคนไทย เพราะสามารถเพิ่มความอยากอาหารได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาหารรสเผ็ดจัด ให้โทษกับร่างกายมากกว่าประโยชน์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคบางอย่างได้

“กินเผ็ด” บ่อยๆ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

  • ท้องเสีย

ในพริกมีสารแคปไซซิน ทำให้เรารู้สึกร้อน จนเราดื่มน้ำมากขึ้น ร่างกายจะพยายามขับเอาสารแคปไซซินออกจากร่างกาย กระเพาะอาหารและลำไส้จึงบีบตัวมากขึ้น เร็วขึ้น ลำไส้ใช้เวลาในการดูดซึมสารอาหารน้อยลง เพราะต้องการขับสารแคปไซซินออกให้เร็วที่สุด จึงทำให้เรามีมักอาการถ่ายท้อง ท้องเสียในช่วงเวลาไม่นานนักหลังจากที่เรากินอาหารเผ็ด

  • กระเพาะอาหารอักเสบ

ข้อมูลจากโรงพยาบาลเปาโล ระบุว่า นอกจากการติดเชื้อเอชไพโลไร จากการปนเปื้อนของแบคทีเรียในอาหารหรือน้ำที่ดื่มเข้าไป ที่อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังได้แล้ว กินอาหารรสเผ็ดจัดเป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้เยื่อเมือกบุในกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ บวม แดงได้เช่นกัน นอกจากนี้การกินอาหารรสจัดหรือเผ็ด ยิ่งสร้างกรดที่กัดเยื่อบุกระเพาะ ทำให้ปวดแสบท้องทันทีที่ทานอาหารเผ็ดอีกด้วย

  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

การรับประทานอาหารเผ็ดจัดเป็นประจำ อาจทำร้ายเยื่อบุลำไส้ อักเสบและเป็นแผล เกิดการอักเสบเรื้อรังนานเป็นปีๆ ทำให้มีอาการท้องเสียและปวดท้องเป็นช่วงๆ ได้ แม้ว่าส่วนมากโรคลำไส้อักเสบฉับพลันจะเกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ติดเชื้อไวรัส และมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ร่วมกับปวดท้องรุนแรง แต่การกินเผ็ดจัดอาจเพิ่มอาการอักเสบให้กับเยื่อบุลำไส้เพิ่มมากขึ้นไปอีก และอาจเสี่ยงมะเร็งลำไส้ในอนาคตได้นั่นเอง

  • กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนคือภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ เกิดได้ทั้งจากมีกรดเกินในกระเพาะอาหารจนไหลย้อนขึ้นมา และหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายทำงานผิดปกติ ดังนั้นผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่ทำให้เกิดกรด ทั้งอาหารรสเผ็ด รสเปรี้ยว ไปจนถึงอาหารที่มีแก๊สมาก เพราะจะยิ่งทำให้เกิดกรดและไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และหากมีอาการกรดไหลย้อนเรื้อรังอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหูรูดหลอดอาหาร เพื่อป้องกันการพัฒนาของโรคไปเป็นมะเร็งหลอดอาหารในอนาคต

กินเผ็ดอย่างไรไม่ให้เป็นโรค

  1. พยายามไม่กินรสเผ็ดจัดจนเกินไป และไม่กินอาหารเผ็ดทุกมื้อ ควรสลับเลือกอาหารรสชาติอื่นๆ บ้าง
  2. หากรับประทานพริก หรือเครื่องปรุงอื่นๆ ที่มีรสเผ็ดแล้วรู้สึกทรมาน แสบปาก แสบท้อง ควรหยุดทานแล้วดื่มน้ำตามเพื่อลดอาการระคายเคืองจากพริกที่อาจเกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร และกระเพาะอาหารได้
  3. หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ ท้องเสียท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ฯลฯ ไม่ควรกินเผ็ด เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
  4. ผู้ป่วยที่มีไข้ เพิ่งผ่าตัด ควรงดการรับประทานอาหารเผ็ดชั่วคราวด้วย
  • “กินเผ็ด” มากเกินไปก็อันตราย ต้องเผ็ดแค่ไหนถึงจะดี?

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ