"กัณวีร์" ชี้เสนอชื่อ "พิธา" ไม่ใช่ญัตติซ้ำ ใช้หมวด 9 หักล้างข้อ 41 มั่นใจ กก.-พท.ไม่แตกแน่

Home » "กัณวีร์" ชี้เสนอชื่อ "พิธา" ไม่ใช่ญัตติซ้ำ ใช้หมวด 9 หักล้างข้อ 41 มั่นใจ กก.-พท.ไม่แตกแน่
"กัณวีร์" ชี้เสนอชื่อ "พิธา" ไม่ใช่ญัตติซ้ำ ใช้หมวด 9 หักล้างข้อ 41 มั่นใจ กก.-พท.ไม่แตกแน่

“กัณวีร์” มั่นใจโหวตนายกฯ รอบ 2 เสนอชื่อ “พิธา” ไม่ใช่ญัตติซ้ำ ชี้ใช้ข้อบังคับหมวด 9 หักล้าง ข้อ 41 ยืนยันพรรคร่วมจะผลักดันจนถึงที่สุด ก้าวไกล-เพื่อไทย ไม่ปล่อยมือกัน

นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นเปิดประชุมสภาฯ โหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 มั่นใจ เสนอชื่อ “พิธา” ไม่ใช่ญัตติซ้ำ ชี้ใช้ข้อบังคับหมวด 9 หักล้าง ข้อ 41

การเสนอชื่อคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ย่อมทำได้ตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับที่ไม่อาจลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญของเขาได้

ผมเสนอต่อที่ประชุมวิป ส.ส.และ ส.ว.ที่กำลังหารือกันว่าในการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ว้นที่ 19 ก.ค.นี้ การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นญัตติซ้ำ ตามที่ ส.ว.และ ส.ส.บางพรรคการเมืองทักท้วงหรือไม่ ซึ่งผมได้อธิบายไปตามนี้ครับ

1. การอ้างอิงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 41 ในลักษณะตีความเพื่อปฏิเสธการยื่นญัตติที่ตกไปแล้วซ้ำอีกครั้ง กรณีเสนอชื่อคุณพิธาเป็นนายกฯ ถือเป็นการอ้างอิงที่ผิดฝาผิดตัว เพราะข้อบังคับข้อที่ 41 ถูกวางอยู่ในหมวดที่ว่าด้วย การประชุมรัฐสภา ซึ่งมีเจตนาระบุถึง “วิธีการและกระบวนการของการประชุม” เท่านั้น ตั้งแต่วิธีการจัดประชุม วิธีการเสนอญัตติ วิธีการและกฎ กติกา มารยาทในการอภิปราย และวิธีการลงมติ

2. สำหรับวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 แยกออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่งต่างหาก คือ หมวด 9 บ่งชี้ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของข้อบังคับ ที่ต้องการแยกกฎเกณฑ์ต่อการพิจารณาเรื่องนี้ เฉพาะออกมาต่างหากจากวิธีการประชุมเหล่านั้น

3. โดยที่กฎกติกาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ตามข้อบังคับฯ หมวด 9 อ้างอิงกลับไปยังกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในส่วนของการเสนอชื่อใครได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยึดโยงอยู่เฉพาะกับมาตรา 159 วรรค 1 และวรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ เท่านั้น

4. กติกาเฉพาะในขั้นตอนของการเสนอชื่อดังกล่าว ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 วรรคหนึ่ง มีเพียง 2 เรื่องที่ต้องคำนึงว่าจะเสนอใครได้ เสนอใครไม่ได้ คือ การพิจารณาตามความในมาตรา 160 และมาตรา 88 แห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีมาตราใดบังคับห้ามการเสนอชื่อซ้ำ ในกรณีที่ลงมติไม่ผ่านความเห็นชอบตามกติกาของมาตรา 159 วรรคสาม แต่อย่างใด

5. การเสนอชื่อคุณพิธา เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบจึงเป็นสิ่งกระทำได้ตามกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงสุดของราชอาณาจักร และกระทำได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 อีกทั้งยังเป็นสิทธิของผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 88 และมาตรา 160 แห่งรัฐธรรมนูญ ในการได้รับการเสนอชื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่อาจไปลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญของเขาได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ