กระทรวงแรงงาน เปิดออนไลน์ ให้นายจ้างยื่นรายชื่อ ต่างด้าว 4 สัญชาติ ทำงานในไทยถึง 15 ส.ค.นี้ ให้แรงงานอยู่-ทำงานต่อในไทยได้ไม่เกิน 13 ก.พ.66
เมื่อวันที่ 4 ส.ค.65 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการบริหารจัดการแรงงานต่าวด้าว ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เปิดให้นายจ้างและสถานประกอบการ ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ตั้งแต่วันนี้-15 ส.ค.นี้
ผ่านระบบอนุญาตทำงานคนต่างด้าวทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th เพื่อให้แรงงานต่างด้าว สามารถอยู่และทำงานต่อในไทยได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ.66 หากต้องการอยู่ทำงานต่อต้องขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่จะสิ้นอายุ และยื่นขอตรวจลงตราวีซ่า ภายในวันที่ 13 ก.พ.66 โดยนายทะเบียน จะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกไม่เกิน 13 ก.พ. 67 ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 13 ก.พ. 68
น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนที่นายจ้างต้องดำเนินการมีดังนี้ 1.นายจ้าง สถานประกอบการ หรือบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th เพื่อขอรับชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่าน
2.ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ต่อกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยรูปถ่ายปัจจุบันของคนต่างด้าวที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th และชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารกรุงไทย โดยมีค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท หลังจากนั้นธนาคารกรุงไทยจะออกใบเสร็จรับเงินให้แก่นายจ้าง ระยะเวลาดำเนินการ 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 ส.ค.นี้
3.นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ตามแบบ บต.50 พร้อมแนบเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตทำงานตามแบบ อ.4 ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. – 15 ต.ค.ระยะเวลา 60 วัน โดยนายทะเบียนจะออกใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานและใบเสร็จรับเงินคู่กัน เป็นหลักฐานแสดงว่าได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
4.คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวพร้อมกับใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม แสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ในกรณีคนต่างด้าวที่รอขึ้นทะเบียนประกันสังคมจากนายจ้าง ระหว่างนั้นต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยเอกชนก่อน
ส่วนกรณีคนต่างด้าวทำงานกับนายจ้าง ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข และนำหลักฐานการทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าวมายื่นต่อนายทะเบียน เพื่อรับการพิจารณาอนุญาตให้ทำงานไม่เกิน 13 ก.พ. 66 และ5. นายจ้างนำคนต่างด้าวไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสุขภาพ 6 โรค จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ระหว่าง 16 ส.ค. 65 – 13 ก.พ. 66
รองโฆษกฯ กล่าวว่า แรงงานสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ