วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน Kick Off โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ประตูเรือสัญจรเจ้าเจ็ด ตำบลรางจรเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายบุรีรัตน์ วงศ์บุรี เลขานุการกรม ผู้แทนภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
สำหรับกิจกรรมการ Kick off โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร นั้น ได้กำหนดจุดเดินเครื่องสูบน้ำพร้อมกัน 4 จุด ได้แก่ บริเวณทุ่งโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี 3 จุด และบริเวณทุ่งผักไห่ ประตูเรือสัญจรเจ้าเจ็ด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 จุด มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน ให้สามารถเตรียมพื้นที่เพาะปลูกตามปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ สอดคล้องกับฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรในพื้นที่
โดย นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “สืบเนื่องจากช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก น้ำฝนที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสร้างผลกระทบต่อเกษตรกร โดยเฉพาะพี่น้องที่ทำนาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งในปีนี้เกิดผลกระทบค่อยข้างรุนแรง ท่านประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ให้นโยบายกับทางกรมชลประทาน เพื่อช่วยพี่น้องเกษตรกรในการทำนานอกฤดูหรือก็คือ นาปรัง เพื่อให้ทันในวันที่ 1 ธันวาคม จึงได้มอบให้ชลประทานทำการพร่องน้ำในวันนี้หรือคือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ เป็นที่มาของการเปิดโครงการเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากแปลงนาของพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสุพรรณบุรี”
การจัดกิจกรรม Kick Off โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ อำเภอเสนา ในครั้งนี้ จะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา (ทุ่งผักไห่ และทุ่งโพธิ์พระยา) ได้รับประโยชน์จากการระบายน้ำที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขัง เพิ่มโอกาสในการเพาะปลูก เกษตรกรสามารถเริ่มต้นเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทันฤดูน้ำหลาก ลดความเสี่ยงและความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ส่งเสริมความมั่นคงด้านการเกษตร ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้อย่างยั่งยืนสืบไป